ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธรณินทร์ กองสุข, สุรพร ลอยหา, ศิริพร จิรวัฒนกุลและคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการพัฒนารูปแบบการทำงานเชิงระบบในการเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า ณ จังหวัดนำร่อง: จังหวัดยโสธร ปี 2549.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 53.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ โรคซึมเศร้าจะก่อให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) เป็นอันดับที่ 1 ในผู้หญิงไทยและเป็นอันดับ 4 ในผู้ชายไทย และประเทศไทยยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิผล ทำให้การช่วยเหลือเบื้องต้นล่าช้าและมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรง วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบระบบการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยง รวมถึงเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่อาการสงบแล้วในพื้นที่นำร่อง วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยพัฒนาและทดลอง นำร่องในจังหวัดยโสธรทุกพื้นที่ ดำเนินการ 3 ปี (2549-2551) กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไปทุกคน ปีแรก ดำเนินการวิเคราะห์ระบบสุขภาพทบทวนองค์ความรู้ พัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จำเป็น วางโครงร่างระบบเฝ้าระวังที่เหมาะสม ได้แก่ ระบบสารสนเทศและการติดตาม ปีที่ 2 พัฒนากลวิธีและเทคโนโลยีการส่งเสริม การลดซึมเศร้าด้วยตนเองพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยและติดตามการกลับซ้ำ การดูแลรักษาโรคซึมเศร้าและการนำไปปฏิบัติ และปี 3 ประเมินผลและขยายผล การประเมินผลลัพธ์ เมื่อการดำเนินการเต็มรูปแบบทั้งจังหวัด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการดูแลช่วยเหลือตามแนวทางไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ประชาชนได้รับการคัดกรองและคำแนะนำไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการป้องกันตามแนวทางไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับการป้องกันการกลับซ้ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ผลการศึกษา ปี 2549 ได้แนวทางในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคซึมเศร้าสำหรับจังหวัดยโสธร คือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อโรคซึมเศร้าในประชาชน บุคลากรสาธารณสุข เสริมสมรรถนะการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้ากับผู้ให้บริการ และการส่งเสริมให้ อสม.มาช่วยคัดกรองและดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชน การพัฒนาเครื่องมือเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ต้องมีความเที่ยงตรง สามารถจำแนกอาการความรุนแรงของโรคซึมเศร้าใช้ง่าย ไม่มากข้อและต้องตรงกับบริบทของผู้ใช้ โดยเฉพาะการแสดงออกและความรู้สึกที่เป็นภาษาอีสาน คือ แบบคัดกรอง 2 คำถาม แบบประเมิน 9 คำถาม และการประเมินฆ่าตัวตาย 8 คำถาม ภาษาอีสาน ได้ร่างระบบการเฝ้าระวังที่ตรงกับบริบทของผู้ใช้ โดยการพัฒนาระบบสารสนเทศเข้ากับระบบฐานข้อมูลของพื้นที่ และได้การพัฒนากลวิธีและเทคโนโลยีในการส่งเสริมสุขภาพจิตที่พัฒนามาจากภูมิปัญญาของพื้นที่ สรุป เป็นการพัฒนาระบบการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าแห่งแรกของประเทศไทย ที่ตรงกับบริบทของผู้ใช้ ครอบคลุมตั้งแต่การค้นหา ประเมิน การดูแลช่วยเหลือ และการส่งต่อ จนกว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคซึมเศร้า ข้อเสนอแนะ การดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบและต่อเนื่องจะต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่เป็นหลักจะทำให้เกิดความร่วมมือที่ต่อเนื่องและครบวงจร

Keywords: โรคซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, ระบบเฝ้าระวัง, ความเสี่ยง, การฆ่าตัวตาย, ยโสธร, ภาคอีสาน, เครื่องมือ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Code: 2007000116

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: