ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิภา สุวรรณรัตน์.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาทบทวนและประเมินผลระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในเขตภาคใต้ตอนล่าง.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 54.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยประเมินผลที่มีรูปแบบการศึกษาเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทบทวน และประเมินผลระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในเขตภาคใต้ตอนล่าง จากเขตตรวจราชการที่ 16 จังหวัดตรัง เขตตรวจราชการที่ 18 จังหวัดปัตตานี และเขตตรวจราชการที่ 19 จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 39 ราย เป็นบุคลากรสาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่12,15 ซึ่งคัดเลือกโดยการสุ่มอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดย แบบเก็บข้อมูลการประเมินระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าโดยการรายงานผู้ป่วยเชิงคุณภาพ (แบบประเมิน 1 และ 2) และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าโดยการรายงานผู้ป่วยเชิงคุณภาพ (แบบประเมิน 3) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 40-49 ปี ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพ แผนกสุขภาพจิตและจิตเวช การอบรมและไม่อบรมที่เกี่ยวข้องกับรายงาน 506 DS มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ผู้วินิจฉัยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแพทย์ พยาบาลส่วนใหญ่เป็นผู้เขียนบัตรรายงาน 506 DS ใช้สมุดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยก่อนส่งบัตรรายงานมากที่สุด และไม่เคยส่งข้อมูลเป็น Electronic file ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าเชิงคุณภาพทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประโยชน์ ด้านแนวทางการดำเนินงาน ด้านความยากง่ายของระบบ ด้านการยอมรับ และด้านความยืดหยุ่น พบว่าระดับความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าด้านประโยชน์มีค่าเฉลี่ยสูงสุด จัดอยู่ในระดับเห็นด้วย (X=4.15,SD=.469) โดยมีค่าเฉลี่ยในภาพรวมจัดอยู่ในระดับเห็นด้วย (X=3.65,SD=.367) ข้อเสนอแนะด้านบุคลากร บุคลากรในทุกระดับของสถานบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ ความรู้ในการประเมินผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารวมถึงการใช้แบบ คัดกรองภาวะซึมเศร้าหรือความเสี่ยงต่อฆ่าตัวตาย ด้านระบบควรพัฒนาการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนของระบบรายงานไปสู่ผู้ปฏิบัติงานให้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกระดับสถานบริการ

Keywords: โรคซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, ระบบเฝ้าระวัง, ความเสี่ยง, การฆ่าตัวตาย, ภาคใต้ตอนล่าง, ระบบเฝ้าระวังโรคซึมเศร้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์.

Code: 2007000117

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: