ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผาณิต บุญตระกูล, จินตนา เลิศไพบูลย์, ถนอมศรี อินทนนท์.

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะสูญเสีย และเศร้าโศก: ประสบการณ์ของหญิงม่ายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 55.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ การเกิดธรณีพิบัติภัย ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพจิตใจของผู้รอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ที่รอดชีวิตนอกจากมีภาวะเศร้าโศกจากการสูญเสียแล้ว ต้องค้นหาทางออกของชีวิตตนเองและครอบครัว การสูญเสียคู่สมรสนั้นก่อให้เกิดความเศร้าโศก และการเสียชีวิตอย่างทันทีทันใดนั้น ทำให้ภาวะเศร้าโศกรุนแรงขึ้น เนื่องจากไม่มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการสูญเสียหญิงม่ายจึงต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอย่างปกติสุข วัตถุประสงค์ 1) ปฏิกิริยาตอบสนองของภาวะสูญเสีย และเศร้าโศกของหญิงม่ายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย 2) การจัดการเพื่อให้ผ่านพ้นภาวะเศร้าโศก 3) การช่วยเหลือที่ได้รับ และความต้องการการช่วยเหลือ กลุ่มตัวอย่าง หญิงม่ายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติ เมื่อ วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จำนวน 10 คน วิธีการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต สัมภาษณ์รายบุคคล ร่วมกับการบันทึกเทปวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการศึกษา 1. ปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาวะสูญเสีย และเศร้าโศกของหญิงม่ายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยมี 4 ด้านได้แก่ ด้านความรู้สึก มีความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ เหงาอ่อนเพลียไม่มีชีวิตชีวา กังวลกับชีวิตข้างหน้า และหงุดหงิดรำคาญใจ ด้านความคิด มีความคิดหมกมุ่นวนเวียนอยู่แต่กับสามี และคิดฆ่าตัวตาย ด้านพฤติกรรม อยากอยู่เงียบๆคนเดียว พึ่งพาคนอื่นแม้เรื่องง่าย และหลีกหนีทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสามีส่วนด้านร่างกาย กินไม่ได้นอนไม่หลับและเจ็บป่วยบ่อย 2. ผู้ให้ข้อมูลใช้วิธีการจัดการต่อภาวะสูญเสียและเศร้าโศก 7 วิธี ได้แก่ ประกอบพิธีทางศาสนาให้สามี ทำตัวไม่ให้ว่าง ทำใจให้ยอมรับความจริงได้ บอกตัวเองว่าต้องสู้เพื่อลูก พึ่งยาเพื่อบรรเทาความทุกข์กายทุกข์ใจ สร้างความเข็มแข็งให้กับตัวเองโดยการฟังการสูญเสียของบุคคลอื่น และมีสามีใหม่ทดแทน 3.ความต้องการการช่วยเหลือ ได้แก่ ต้องการคนอยู่เป็นเพื่อน ต้องการอาชีพและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ และต้องการหนังสือที่มีเนื้อหาสร้างพลังทางใจ ส่วนการช่วยเหลือที่ได้รับ ได้แก่ ได้รับเงินค่าทำศพและเงินสนับสนุนการศึกษาของบุตร ได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจากทีมสุขภาพ ได้รับเงินค่าทำศพและเงินสนับสนุนการศึกษาของบุตร ได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัว ได้รับการช่วยเหลือจากทีมสุขภาพ ได้รับค่าทดแทนบ้านเรือนและสิ่งของที่เสียหาย ผลการวิจัยครั้งนี้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการดูแลช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพจิตใจ ภายหลังการเสียชีวิตของสามีจากธรณีพิบัติภัยได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้สูญเสีย

Keywords: สุขภาพจิต, ธรณีภัยพิบัติ, ภาวะเศร้าโศก, การสูญเสีย, หญิงม่าย, เศร้า, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลาราชนครินทร์.

Code: 2007000118

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: