ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชุลีวรรณ เพียรทอง

ชื่อเรื่อง/Title: การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 153. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ วัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาและความต้องการของผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลและผู้ที่เกี่ยวข้อง 2) พัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล 3) ศึกษาผลการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล ศึกษาในชุมชนแห่งหนึ่งของอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ กระบวนการวิจัยอาศัยผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล ญาติและครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมจำนวน 71 คน เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบวัดความวิตกกังวล แบบประเมินภาวะสุขภาพ แบบประเมินการมีส่วนร่วมของแกนนำและประชาชน แนวคำถามในการสนทนากลุ่ม และแนวคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการเปรียบเทียบความแตกต่าง ใช้สถิติ Chi-square test และ t-test ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และตีความ ผลการวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ พบว่าผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลมีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันเมื่อมีความวิตกกังวล ต้องพึ่งพิงยา ขาดยาไม่ได้ และคิดว่าตนเองไม่มีแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือ ในขณะที่ญาติและครอบครัว รวมทั้งแกนนำชุมชนไม่เห็นความสำคัญ และไม่รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร เจ้าน้าที่สาธารณสุขรู้สึกไม่มั่นใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล ซึ่งมักมีอาการไม่สุขสบายทางกายและจิตใจหลายอย่างร่วมกัน เมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และร่วมกันระดมสมองจนเกิดกระบวนการวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง มีวิธีการจัดการกับความเครียด มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็ยังมีการฝึกปฏิบัติเพื่อคลายเครียด ตลอดจนการกำหนดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากการติดตามประเมินผล พบว่ามีรูปแบบการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล โดยมีกระบวนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อชุมชน จนเกิดความไว้วางใจ เกิดการยอมรับให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน ญาติและครอบครัวมีความเข้าใจ ใส่ใจและให้การดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล ส่วนแกนนำชุมชนเองก็รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและภาคภูมิใจในตนเองที่ได้มีส่วนดูแลผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลร่วมกัน ส่วนผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลมีอาการไม่สุขสบายต่างๆ และระดับความวิตกกังวลลดลง ซึ่งส่งผลให้มีการพึ่งพิงยาน้อยลงเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าโครงการวิจัยครั้งนี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน

Keywords: การพัฒนา, การมีส่วนร่วมของชุมชน, ผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล, การวิจัยเชิงปฏิบัติการ, วิตกกังวล, ภาวะกังวล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000048

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -