ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิมทอง เจ๊กจันทึก, วิไลรัตน์ สะสมผลสวัสดิ์, สุดารัตน์ พุฒพิมพ์, และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: การเกิดอุปทานหมู่ เป็นลม เกร็ง ในนักเรียนหญิงโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดยโสธร.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 57.

รายละเอียด / Details:

เกิดอุปทานหมู่ในนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาด้วยอาการเป็นลม เกร็ง เกิดเหตุการณ์ครั้งแรก วันที่ 10 พฤษภาคม 2550 และเกิดซ้ำในระหว่างวันที่ 8-14 มิถุนายน 2550 จำนวน 8 ราย หลังการตรวจร่างกายเบื้องต้น ที่สถานีอนามัย และโรงพยาบาลจังหวัด ไม่พบอาการผิดปกติทางกาย นักเรียนหญิงจะมีอาการหวาดกลัว ร้องตะโกนกลัวผีจะเอาไปอยู่ด้วย เด็กจะเกิดอาการที่โรงเรียน เกือบทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะ การระบาดด้านจิตใจ ทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จึงได้เข้าไปดำเนินการสอบสวนโรค ร่วมกับทีมสาธารณสุขระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อศึกษาทางระบาดวิทยาการเกิดโรค การควบคุม ป้องกัน และให้การช่วยเหลือ ในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยาการเกิดโรค ด้าน บุคคล สถานที่ และเวลา ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรค และหามาตรการและแนวทางในการควบคุม ป้องกัน ให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดโรค วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาข้อมูลลึกถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย และศึกษาเชิงพรรณนา เพื่อให้เห็นขนาดของปัญหาและการกระจายของโรค เก็บรวมรวบข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต แบบประเมินความเครียด แบบประเมินทางจิตวิทยา แบบบันทึกข้อมูลพื้นฐาน ผลการศึกษา พบว่า 1. เด็กผู้หญิงที่เป็นเพื่อนสนิทกันจำนวน 8 ราย (ร้อยละ 100) คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ75.00 มีอาการส่วนใหญ่ในช่วงเช้า ร้อยละ 75.00 สิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการ คือเห็นเพื่อนมีอาการและได้ยินข่าวว่าเพื่อนมีอาการร้อยละ 38.00 และ 38.00 การรักษาเมื่อเกิดอาการครั้งแรก คือ การปฐมพยาบาลที่โรงเรียน ร้อยละ 50.00 และความเครียดผู้ปกครองและผู้นำพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับปกติ ร้อยละ 86.00 และ 2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ 1) ปัจจัยชักนำส่วนบุคคล 2) ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยรายอื่นๆ 3) ปัจจัยชักนำจากสิ่งแวดล้อม 4) ปัจจัยกระตุ้นในผู้ป่วยรายแรก 5) ปัจจัยส่งเสริมการระบาด และ 3. วางมาตรการในการดูแลช่วยเหลือ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงระบาดของโรค ที่เน้นในกลุ่มผู้มีอาการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วงหลังระบาด จัดทำโครงการตรวจสุขภาพแก่ประชาชนในหมู่บ้าน การเสริมสร้างสุขภาพจิตครอบครัว การเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ให้ความรู้ จัดเวรยามดูแลหมู่บ้านตอนกลางคืน สรุปผลการศึกษา การระบาดโรคทางจิตมักพบได้บ่อยในโรงเรียน หมู่บ้าน ในโรงงาน ซึ่งจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับเรื่อง ภูตผี ไสยศาสตร์ เทพ เมื่อเกิดเหตุการณ์ สิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างรีบด่วน คือควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโดยชุมชนมีส่วนร่วม ข้อเสนอแนะ ผู้เชี่ยวชาญควรเป็นผู้ให้ความรู้และชี้แนะวิธีการ สอบสวนโรคทางระบาดวิทยา ทักษะที่เหมาะสม แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับในพื้นที่ และวิธีการจัดการร่วมกับชุมชนเมื่อเกิดเหตุการณ์

Keywords: อุปทานหมู่, ความเครียด, สุขภาพจิต, นักเรียนหญิง, เป็นลม, ระบาดวิทยา, อุปทาน, ยโสธร

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

Code: 2007000120

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: