ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัชนี หัตถพนม, สุวดี ศรีวิเศษ, เอมหทัย ศรีจันทร์หล้า,ไพรวัลย์ ร่มซ้าย.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานการให้การปรึกษาแก่เครือข่ายปฏิบัติงานสุขภาพจิตในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ในชุมชน บทบาทพยาบาลจิตเวชในการให้การปรึกษาและประสานงาน. .

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 60.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ โรงพยาบาลได้พัฒนาเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ตลอดจนมีการกำหนดช่องทางในการเป็นที่ปรึกษาและประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในการดูแลผู้ป่วย ผลการศึกษา ที่ได้จะนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้ให้การปรึกษา และพัฒนาความรู้แก่เครือข่ายต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานการให้การปรึกษาและประสานงาน (Psychiatric Consultation Liaison Nurse) แก่เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนที่รับผิดชอบ วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาย้อนหลัง (retrospective descriptive study) จากทะเบียนการให้การปรึกษาแก่เครือข่ายในการบำบัด รักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 - มีนาคม 2550 ทุกราย การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งได้แก่ เรื่องที่ขอรับการปรึกษาและการให้การปรึกษาใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา พบว่าให้การปรึกษา จำนวน 265 ครั้ง ปีที่ให้การปรึกษามากที่สุดคือ ปีงบประมาณ 2549 จำนวน 77 ครั้ง (29.1%) แต่เมื่อพิจารณาผลงานเพียง 6 เดือน พบว่า ต.ค. 49 – มี.ค. 50 ให้การปรึกษาถึง 57 ครั้ง (21.5%) ตำแหน่งที่ขอรับการปรึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพ 82.3% หน่วยงานที่ขอปรึกษามากที่สุด คือ โรงพยาบาลชุมชน 61.5% อยู่ในจังหวัดขอนแก่น 70.2% เวลาที่ให้การปรึกษา 6-10 นาที 44.9 % ( 10.8 SD 6.2) ปรึกษาในเวลาราชการ 97.0% เรื่องที่ขอปรึกษาเป็นปัญหาเกี่ยวกับ 1) ผู้ป่วยจิตเวช 37.7% เช่น ผู้ป่วยไม่ร่วมมือในการรับประทานยา ผู้ป่วยอาการกำเริบไม่สามารถดูแลได้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน เป็นต้น 2) ปัญหาอื่นๆ 35.5% เช่น การดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนขอสนับสนุนยาจากโรงพยาบาลจิตเวช เครือข่ายหรือคนในครอบครัวมีปัญหาสุขภาพจิต 3) ปัญหาผู้ป่วยเร่ร่อน ล่ามขังในชุมชน ขอให้ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัว 11.7% การช่วยเหลือที่ให้แก่เครือข่ายโดย ให้การปรึกษาและแนะนำ 47.5% ให้การปรึกษาและประสานงานพยาบาล 16.6% ให้การปรึกษาและประสานงานแพทย์ 15.8% เป็นผู้ป่วยในภาวะวิกฤตและเข้าการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 6.4% ภาวะวิกฤตแต่ปรับการรักษาด้วยยา 24.2% สำหรับบทบาทของพยาบาลจิตเวช นอกจากทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและประสานแล้ว ยังทำหน้าที่สาธิตการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนแก้เครือข่าย โดยการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยครอบครัวในชุมชน สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาที่ได้แสดงให้เห็นว่าการเป็นที่ปรึกษาและประสานมีแนวโน้มในการให้บริการมากขึ้น ผู้ศึกษาได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง เช่น การเจรจาต่อรองให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดความรู้แก่เครือข่ายในการนิเทศงานสุขภาพจิตต่อไป

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, สุขภาพจิต, บทบาทของพยาบาล, การให้คำปรึกษา, เครือข่าย, พยาบาลจิตเวช, จิตเวชชุมชน, จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000123

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: