ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุลินดา จันทรเสนา, ขนิดา ชาฎิโกฏ, ยุพิน ตุ้มโหมด, สำราญ บุญรักษา.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานศูนย์วิกฤติสุขภาพจิตทั่วประเทศ.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 67-68.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ประเทศไทยได้รับผลจากภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติ และภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Low Control) ไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Low predictability) และเป็นการคุกคามชีวิตอย่างร้ายแรง (High Life Treat) นำไปสู่ภาวะวิกฤตของบุคคลและ กลุ่มบุคคล ผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในภาวะวิกฤติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนบุคคลเสียความสมดุล (Disequilibrium) ทั้งร่างกายจิตใจและสังคม ซึ่งภาวะวิกฤตทางจิตใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นหากได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างถูกต้องจะสามารถลดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง จากการดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่มีรูปแบบและแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจนรวมทั้งมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในภาวะวิกฤต โดยให้การดูแลตามสถานการณ์ การดำเนินงานวิกฤตสุขภาพจิตยังคงเป็นการทำงานในลักษณะที่มีหลายหน่วยงานดำเนินงานกระจัดกระจายตามกรณีที่เกิดเหตุ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อประเมินปัญหา อุปสรรคในการจัดตั้งและดำเนินงานศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต 2. เพื่อทราบแนวทางในการดำเนินงาน และการประสานในการให้ความช่วยเหลือบุคลากรที่ปฏิบัติงานในศูนย์วิกฤตสุขภาพจิต ขอบเขตการวิจัย การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) เพื่อได้ทราบถึงผลการดำเนินงานที่จัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตแล้วโดยศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค ความต้องการความช่วยเหลือในการดำเนินงาน รวมทั้งจุดแข็งที่ยังคงสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง และแนวคิดเกี่ยวกับมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่จัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตทั่วประเทศ ระเบียบวิธีวิจัย ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตโดยสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2549 ประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโรงพยาบาลจิตเวช จำนวน 6 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 8 แห่ง ภาคเหนือเป็นโรงพยาบาลจิตเวชจำนวน 4 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 9 แห่ง ภาคใต้เป็นโรงพยาบาลจิตเวชจำนวน 2 แห่ง และสาธารณสุขจังหวัดจำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 8 แห่ง ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จำนวน 1 แห่ง ภาคกลางเป็นโรงพยาบาลจิตเวชจำนวน 4 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 13 แห่ง ภาคตะวันออกโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 1 แห่ง ผลการวิจัย ศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตทั่วประเทศที่จัดตั้งแล้วจำนวน 53 แห่ง และกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตจำนวน 20 แห่ง โดยแยกการดำเนินงานดังนี้ 1. ด้านบุคลากรพบว่าบทบาทของผู้ปฏิบัติงานในศูนย์วิกฤตเองไม่มีความชัดเจน ขาดองค์ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับงานวิกฤตสุขภาพจิต รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนบุคลากร นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุวิกฤตใช้ระยะเวลานานในการตามทีม บางช่วงเวลาไม่สามารถตามทีมในการออกปฏิบัติงานได้ บุคลากรไม่มีความเพียงพอในการดำเนินงานมีหลายด้าน ไม่มีการจัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตอย่างชัดเจน 2. ด้านการประสานงาน ระดับจังหวัดยังไม่มีแผนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน รวมทั้งระดับผู้ปฏิบัติงานขาดแผนงานที่เป็นรูปธรรมทั้งในและนอกหน่วยงาน ทำให้งานไม่คล่องตัว ล่าช้า นอกจากนี้อุปสรรคในด้านเครื่องมือสื่อสารไม่สะดวก การตามทีมไม่สามารถออกปฏิบัติได้ทันทีเนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง 3. นโยบาย ผู้บริหารให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ พันธกิจหลักมากกว่างานวิกฤตสุขภาพจิต มองภาพงานวิกฤตสุขภาพจิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจิตเวชชุมชน ขาดการควบคุมกำกับติดตาม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความมั่นใจในรูปแบบการดำเนินงานที่แท้จริง 4. เครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ทราบบทบาทหน้าที่ในการประสานร่วมกับเครือข่ายระดับ อำเภอ ชุมชน ในขณะที่การดำเนินงานระดับอำเภอไม่เข้มแข็ง การกำหนดเขตพื้นที่ในการรับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุวิกฤตยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ไม่มีระบบนิเทศติดตามการดำเนินงานในระดับจังหวัด เขต/ศูนย์เขต 5. จุดแข็งการดำเนินงาน พบว่ามีคณะทำงานมีวางแผนงาน กำหนดบทบาทหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และได้รับการอบรมเจรจาต่อรอง การจัดอบรมเครือข่ายในการต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้งผู้บริหารให้อิสระในการดำเนินงาน รวมถึงการมีพี่เลี้ยงในการดำเนินงานคือโรงพยาบาลจิตเวช สามารถลดอัตราการตาย ญาติและชุมชนเกิดการยอมรับ 6. ประเด็นที่ต้องการพัฒนาเครือข่าย การขยายจำนวนวิทยากรเผยแพร่ความรู้ทางด้านงานวิกฤตสุขภาพจิตให้มากขึ้น การอบรมให้ความรู้แก่เครือข่ายทุกหลักสูตรลงสู่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน มีการประชุมระดับจังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องงานวิกฤตสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องในการประสานบูรณการระดับจังหวัดรวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูล 7. ภาพศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตในอนาคต ความเข้าใจของผู้บริหารส่งผลถึงขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน งบประมาณสนับสนุน ผลงานวิจัย การพัฒนาคู่มือมาตรฐานเดียวกัน การปฏิบัติงานเชิงรุกและมีฐานข้อมูลที่ทันสมัย มีผลบังคับในระดับชาติ รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ในงานวิกฤตสุขภาพจิตอย่างเพียงพอ ข้อเสนอแนะ ควรมีการซ้อมแผนวิกฤตสุขภาพจิต การดำเนินงานทุกหน่วยร่วมกัน เช่น ตำรวจองค์กรบริหารส่วนตำบล มูลนิธิกู้ภัย เน้นด้านการประชาสัมพันธ์เข้าถึงทุกหน่วยงาน การจัดตั้งศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตทุกโรงพยาบาล การจัดสัมมนาเครือข่ายระดับชาติทุกปี เครือข่ายพบกันปี 2 ครั้ง เพื่อประชุม Refresh จัดทำทำเนียบของผู้ที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด จดหมายข่าวให้กับเครือข่ายเป็นระยะ

Keywords: ศูนย์วิกฤติสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, ภาวะวิกฤตทางจิตใจ, ภาวะวิกฤติ, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์.

Code: 2007000128

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: