ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธรณินทร์ กองสุข, สุวรรณา อรุณไพศาล, ณรงค์ มณีทอน และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาและความเที่ยงตรงของแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม ภาษาอีสาน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 128-129.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ การประเมินโรคซึมเศร้า จะช่วยให้การดูแลรักษาและการติดตามการกลับซ้ำโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีบริบทแตกต่าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเครื่องมือที่มีค่าความไวแม่นตรง ความจำเพาะสูง สะดวก ง่าย และตรงกับบริบทของผู้ใช้ วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือประเมินระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าที่ตรงกับบริบทของผู้ใช้ และเพื่อศึกษาความเที่ยงตรงของแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม ภาษาอีสาน (9Q) วิธีการศึกษา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 พัฒนาเครื่องมือประเมินโรคซึมเศร้าโดยเลือกคำที่คนอีสานมักใช้แสดงความรู้สึก ในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 9 คำถาม คำถามแรก บ่อยากเฮ็ดหยัง บ่สนใจเฮ็ดหยัง คำถามที่ 2 บ่ม่วนบ่ซื่น เซ้ง หงอย คำถามที่ 3 นอนบ่หลับ หรือหลับๆตื่นๆ หรือนอนบ่อยากลุก คำถามที่ 4 เมีอย บ่มีเฮง คำถามที่ 5 บ่อยากเข่า บ่อยากน่าม หรือกินหลายโพด คำถามที่ 6 คึดว่าเจ้าของบ่ดี คำถามที่ 7 คุดหยังกะบ่ออก เฮ็ดหยังกะลืม คำถามที่ 8 เว่ากะซ่า เฮ็ดหยังกะซ่า หรือ หนหวย บ่เป็นตาอยู่ คำถามที่ 9 คึดอยากตาย บ่อยากอยู่ คะแนนรวม 0-24 แต่ละข้อมีคะแนน “0” (บ่เคยมีบ่เคยเป็น) ถึง “3” (เป็นเกือบซุมือ) แบ่งความรุนแรงเป็นน้อย ปานกลาง และรุนแรง ระยะที่ 2 ตรวจสอบเครื่องมือในรูปแบบ Diagnostic test study กับกลุ่มประชากรไทยอีสานจังหวัดยโสธร จำนวน 1002 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป เก็บข้อมูลโดยการประเมินด้วย 9Q กับอาสาสมัครที่ผ่านการคัดกรองโรคซึมเศร้าด้วย 2 คำถาม ภาษาอีสาน ที่ผลมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แล้วสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างชนิด M.I.N.I. (Mini International Neuropsychiatric Interview) โดยจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคซึมเศร้า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติหาค่าความไว ความจำเพาะ ความน่าจะเป็นโรคจากผลทดสอบอัตราความชุกของโรคซึมเศร้า และ ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษา อัตราความชุกโรคซึมเศร้าพบร้อยละ 5.6 แบ่งเป็นโรคซึมเศร้าหลัก (Major Depressive Disorder MDD) พบร้อยละ 3.7 จากการประเมินด้วย 9Q คำถามที่ 3 มีคำตอบ เกือบซุมื่อ มากที่สุดร้อยละ 4.0 รองลงมากคือ คำถามที่ 7 ร้อยละ 1.9 เวลาที่ใช้ในการประเมินด้วย 9Q ส่วนใหญ่ใช้เพียง 1 นาที ความแม่นตรงของ 9Q จากการหาจุดตัดคะแนนที่เหมาะสมโดยการทำ Receiver Operating Characteristic Curve analysis = 0.9283 (95% CI = 0.8931 – 0.9635) คือ 7 คะแนนขึ้นไป มีค่าความไวสูงร้อยละ 75.68 ความจำเพาะสูงถึงร้อยละ 93.37 เมื่อเทียบกับการวินิจฉัยโรค MDD ค่าความน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า = 11.41 เท่า สรุป แบบประเมินโรคซึมเศร้าด้วย 9Q มีความแม่นตรงในการวัดการเปลี่ยนแปลงของโรคซึมเศร้าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ใช้เวลาน้อย มีจำนวนข้อไม่มาก เหมาะสำหรับในการประเมินอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่พัฒนาเครื่องมือได้ตรงกับบริบทของผู้ใช้โดยเฉพาะคนไทยอีสาน ข้อเสนอแนะ แบบประเมินโรคซึมเศร้าด้วย 9Q บุคลากรทางสาธารณสุขทุกระดับสามารถนำไปค้นหาผู้ที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในชุมชนเข้ามาในระบบบริการสาธารณสุข และจะลดความสูญเสียที่จะเกิดจากโรคซึมเศร้า

Keywords: โรคซึมเศร้า, แบบประเมินโรคซึมเศร้า, แบบประเมิน, ภาษาอีสาน, แบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม, 9Q, เครื่องมือ, ความเที่ยงตรง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Code: 2007000131

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: