ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สำอาง พันธุ์ประทุม, วีณา คันฉ้อง, แสงอรุณ อิสระมาลัย.

ชื่อเรื่อง/Title: ความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการทางจิต.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 116.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ โรคลมชักที่มีอาการทางจิต เป็นโรคทางระบบประสาทและมีอาการทางจิตร่วมด้วยจัดเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิตส่งผลกระทบต่อบุคคลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในการดูแลตนเอง จึงต้องการการดูแลจากผู้ดูแล ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการที่จะปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยอย่างจงใจและมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากน้อยเพียงใด ทำให้ผู้ดูแลมีความสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย และลดอัตราการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วยได้ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการทางจิต วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ดูแลที่พาผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการทางจิตมาตรวจรักษา หรือรับยาแทนที่แผนกผู้ป่วยนอก หรือพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 100 คน เลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง มีค่าความเที่ยงอัลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา พบว่าความสามารถโดยรวมของผู้ดูแลอยู่ในระดับสูง ส่วนรายด้านโดยด้านแรงจูงใจในการดูแลผู้ป่วย มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยและปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจ และการควบคุมพลังงานทางด้านร่างกายของตนเองให้เพียงพอเพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ตามลำดับ สรุปผลการศึกษา ความสามารถโดยรวมของผู้ดูแล อยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากครอบครัวให้ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วย ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีศักยภาพในการดูแล และอาจเนื่องจากปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ ภาวะสุขภาพ และระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง ข้อเสนอแนะ ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับพัฒนาแนวทางในการจัดกิจกรรมการพยาบาล เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการทางจิต ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตต่อไป

Keywords: โรคลมชัก, โรคทางระบบประสาท, ความสามารถของผู้ดูแล, แรงจูงใจในการดูแลผู้ป่วย, อาการทางจิต, กิจกรรมพยาบาล, การพยาบาลจิตเวช, จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Code: 2007000136

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: