ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุษริน เพ็งบุญ

ชื่อเรื่อง/Title: ความคิดเห็นของครู นักเรียนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานป้องกันสารเสพติดในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสิงห์บุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 82. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของสารเสพติดในสถานศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้น หากนักเรียนใช้สารเสพติดแล้วการช่วยเหลือแก้ไขทำได้ยาก จึงควรมุ่งเน้นการดำเนินการป้องกันการใช้สารเสพติดเป็นหลัก การศึกษาเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครู นักเรียนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานป้องกันสารเสพติดในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดสิงห์บุรี กลุ่มตัวอย่างคือ ครู และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และปีที่ 6 จำนวน 412 คน และ 731 คน ตามลำดับ ที่ได้รับการสุ่มเลือกด้วยวิธี Multistage cluster sampling จากครู และนักเรียนทั้งหมดในสังกัดสำนักงานปารประถมศึกษา จังหวัดสิงห์บุรี เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบเอง ระหว่างเดือนธันวาคม 2545 ถึงเดือนมกราคม 2546 ครูตอบกลับ 324 คน (ร้อยละ87.6) และนักเรียนตอบกลับ 731 คน (ร้อยละ 100) วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละค่าต่ำสุด สูงสุด ค่ามัธยฐาน และ Chi-Square test ผลการศึกษาพบว่า ครูให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานป้องกันสารเสพติดในสถาน-ศึกษาในระดับค่อนข้างมาก ขณะที่การปฏิบัติจริงอยู่ในระดับปานกลางถึงมากแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.05) ครูส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและปฏิบัติมากในด้านการลดปัจจัยเสี่ยงและการบริหารจัดการ ส่วนด้านการช่วยเหลือแก้ไขและด้านระบบข้อมูลมีการให้ความสำคัญและปฏิบัติค่อนข้างน้อย การวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่าปัจจัยส่วนบุคคล คือ ระดับการศึกษา การอบรมเกี่ยวกับสารเสพติด และลักษณะโรงเรียนมีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นของครู โดยครูโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเห็นว่าโรงเรียนให้ความสำคัญและปฏิบัติสูงกว่าครูโรงเรียนประถมศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เฉพาะการให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการ ด้านระบบข้อมูล ด้านการช่วยเหลือแก้ไข และด้านการบริหารจัดการต่อการปฏิบัติจริง โดยครูเห็นว่าองค์ประกอบที่มีผลต่อความสำเร็จของการดำเนินงานป้องกันสารเสพติดในสถานศึกษามากที่สุด คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน ส่วนนักเรียน พบว่า นักเรียนเห็นว่าโรงเรียนมีการดำเนินงานป้องกันสารเสพติดในระดับปานกลาง โดยด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมและป้องกัน นักเรียนเห็นว่ามีการดำเนินงานมากกว่าด้านจัดกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของครู การวิเคราะห์ในรายละเอียดพบว่าเพศ ผลการศึกษา จำนวนครูและนักเรียน มีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเห็นว่าโรงเรียนมีการดำเนินงานสูงกว่าโรงเรียนประถมศึกษา

Keywords: สารเสพติด, ยาเสพติด, สถานศึกษา, นักเรียน, ความคิดเห็นของครู, การป้องกันสารเสพติดในสถานศึกษา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสิงห์บุรี

Code: 0000005

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -