ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จำลองลักษณ์ จามรโชติ, อรอินทร์ ขำคม, ขนิษฐา ศรเรือนทอง.

ชื่อเรื่อง/Title: ความสุขของประชาชนในเขตพื้นที่สาธารณสุขที่ 14.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 118.

รายละเอียด / Details:

การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดร็วในปัจจุบัน ส่งผลต่อความสุขของการดำเนินชีวิตในสังคมมีแนวโน้มลดลง การสำรวจความสุขของประชาชนจึงมีความสำคัญและจำเป็นยิ่ง เพราะจะสะท้อนถึงภาวะสุขภาพจิตของประชาชน ในพื้นที่ และสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความสุขของประชาชนพื้นที่สาธารณสุขที่ 14 และเปรียบเทียบความสุขของประชาชนในแต่ละจังหวัด วิธีการศึกษา การศึกษานี้ใช้การวิจัยเชิงพรรณนาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนโดยผสมการแบ่งชั้นภูมิการแบ่งกลุ่ม และการสุ่มอย่างง่าย จากประชากรที่มีอายุ 15-59 ปี ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี/อำนาจเจริญ/ยโสธรและศรีสะเกษ จำนวน 1,012 คน ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2549 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบบประเมินดัชนีชี้วัดความสุขโดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.75 และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test ผลการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 39.3 ปี จบชั้นประถมศึกษา มีสถานภาพสมรสคู่ ครอบครัวเดี่ยว เมื่อประเมินระดับความสุข พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (เท่ากับคนทั่วๆ ไป) คิดเป็นร้อยละ 48.0 รองลงมาคือ ระดับน้อยกว่าคนทั่ว ๆ ไป มีร้อยละ 26.9 และระดับมากกว่าคนทั่วไปๆ ไป มีร้อยละ 25.1 ตามลำดับ โดยประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีคะแนนเฉลี่ยของความสุขสูงสุด คือ 31.68 รองลงมาคือ อำนาจเจริญ, ยโสธร และศรีสะเกษ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 31.10, 30.30 และ 30.05 ตามลำดับ ประเด็นที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด 4 ประเด็น คือ มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในครอบครัว, การได้รับการดูแลจากครอบครัวเมื่อเจ็บป่วย, ความรักความผูกพันในครอบครัว และรู้สึกสมหวังในตนเองอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบระดับความสุขของประชาชนพบว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีคะแนนของความสุขสูงกว่าอำนาจเจริญ, ยโสธร และศรีสะเกษ และประชาชนผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาจะมีความสุขมากกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษาลงไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนประชาชนที่มีความแตกต่างกันในปัจจัย เพศ อายุ สถานภาพสมรส ลักษณะครอบครัว และที่ตั้งของที่อยู่อาศัย พบว่า มีระดับความสุขไม่มีความแตกต่างกัน ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาจะเห็นว่ายังมีประชาชนประมาณหนึ่งในสามที่ยังมีความสุขอยู่ในระดับต่ำกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จำเป็นที่จะต้องหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมสุขภาพจิตหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป

Keywords: ความสุข, การดำเนินชีวิต, สุขภาพจิต, คุณภาพชีวิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

Code: 2007000138

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: