ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประมัย ฤทธิรณ, พรเพ็ญ ฐิติสมบูรณ์, วันเพ็ญ ทัดศรี.

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 119.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา และความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ดูแล รวมทั้งศึกษาผลกระทบจากการมีผู้ดื่มสุราในครอบครัวและป้องกันความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตและความผิดปกติทางจิตเวชที่อาจจะเกิดตามมา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลผู้ที่ดื่มสุราโดยดูแลตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ได้กลุ่มตัวอย่าง 139 ราย เก็บข้อมูลเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ใช้แบบประเมินภาวะสุขภาพทั่วไป GHQ-28 ในการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS ใช้สถิติไคร์สแควทดสอบความสัมพันธ์ ระยะที่ 2 ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่ได้จากการเก็บข้อมูลระยะที่ 1 จำนวน 41 ราย โดยติดตามเยี่ยม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใช้แบบติดตามเยี่ยมบ้านที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เยี่ยมบ้านครั้งที่ 2 ห่างจากเยี่ยมครั้งแรกประมาณ 1 เดือน ใช้แบบสอบถาม GHQ-28 ประเมินซ้ำอีกครั้ง เพื่อคัดกรองกลุ่มตัวอย่างที่ยังคงมีปัญหาสุขภาพจิตและมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติทางจิตเวช วิเคราะห์ข้อมูลตามประเด็นตัวแปรและตรวจสอบคุณภาพการวิเคราะห์ข้อมูลโดยที่ปรึกษาโครงการผู้เชี่ยวชาญอีก จำนวน 3 ท่าน ระยะที่ 3 ติดตามกลุ่มตัวอย่างที่ยังคงมีปัญหาสุขภาพจิตมาตรวจที่ห้องตรวจจิตเวช ผลการวิจัยพบว่า ผู้ดูแลมีปัญหาสุขภาพจิตและมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติทางจิตเวช 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.49 ในกลุ่มนี้เป็นเพศหญิง 32 ราย สถานภาพคู่ 32 ราย อายุอยู่ในช่วง 40-60 ปี เป็นส่วนใหญ่คือ 17 ราย การศึกษาระดับประถมศึกษา 29 ราย รายได้ไม่เพียงพอ 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นสามี/ภรรยาของผู้ดื่มสุรา 18 ราย และระยะเวลาดูแลมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ถึง 31 ราย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสุขภาพจิตกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ดูแล พบว่าความเพียงพอของรายได้ ความสัมพันธ์กับผู้ดื่มสุราและระยะเวลามีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของผู้ดูแลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ผลกระทบต่อผู้ดูแล พบว่าสุขภาพทางกายทรุดโทรม โดยเฉพาะผู้ดูแลที่เป็นผู้สูงอายุ และรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ ร่วมกับสงสาร เห็นใจ ขาดรายได้ ถูกทำร้ายร่างกาย สำหรับการป้องกันปัญหาการติดสุรา ควรเริ่มต้นที่งดการดื่มสุราในงานเลี้ยงต่างๆ และไม่ให้มีร้านขายสุราในหมู่บ้าน ผลวิจัย พบว่าผู้ดูแลทุกรายต้องการให้ผู้ดื่มเลิกดื่มสุราหรืออย่างน้อยก็ดื่มลดลง ซึ่งพฤติกรรมการดื่มสุราของผู้ดื่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะสุขภาพจิตของผู้ดูแล และผู้วิจัยเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราคนไทยต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาการดื่มสุราเสียที

Keywords: ภาวะสุขภาพจิต, สุรา, ปัญหาการดื่มสุรา, จิตเวช, ปัญหาสุขภาพจิต, เยี่ยมบ้าน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: เทศบาลตำบลชุมพลบุรี, ศูนย์สุขภาพชุมชนเทศบาลตำบลชุมพลบุรี, จังหวัดสุรินทร์, โรงพยาบาลสุรินทร์.

Code: 2007000139

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: