ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุภิญญา เลิศนาคร, วันทนา เหรียญมงคล, จุราพร พงศ์เวชรักษ์, ปราโมทย์ ศรีโพธิ์ชัย.

ชื่อเรื่อง/Title: การทดลองแบบสุ่มควบคุมของการใช้โปรแกรมควบคุมน้ำหนักโดยเภสัชกร สำหรับผู้ป่วยจิตเภทที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนจากการใช้ยาต้านโรคจิตนอกแบบ.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 126.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ ผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับยาต้านโรคจิตนอกแบบ (Atypical antipsuychotics) มักมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดใช้ยาและการไม่ใช้ยาตามสั่ง และยังทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของโรคหลายชนิด ดังนั้นโปรแกรมควบคุมน้ำหนักโดยเภสัชกรน่าจะสร้างความเข้าใจต่อความร่วมมือในการใช้ยาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลของโปรแกรมควบคุมน้ำหนักโดยเภสัชกรในผู้ป่วยจิตเภทที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนที่ได้รับยาต้านโรคจิตนอกแบบ วิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มควบคุม ทำการศึกษาในผู้ป่วยจิตเภท จำนวน 60 ราย ที่กำลังได้รับยาต้านโรคจิตชนิดนอกแบบ และมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ผู้ป่วยในกลุ่มควบคุม (N=30) จะได้รับบริการของโรงพยาบาลตามปกติ ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มศึกษา (N=30) จะได้รับโปรแกรมควบคุมน้ำหนักจากเภสัชกรเพิ่มเติมทุก 1 เดือน เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โปรแกรมควบคุมน้ำหนักโดยเภสัชกรประกอบด้วย การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม (Motivation Interview) การให้ความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกายในแต่ละวันอภิปรายและวางแผนร่วมกับผู้ป่วยในการนัดแต่ละครั้ง วัดการเปลี่ยนแปลงจากค่าพื้นฐานก่อนเริ่มต้นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม ได้แก่ น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย สัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก วัดผลทุก 1 เดือน และเปรียบเทียบผลการศึกษาจากค่าเริ่มต้นและที่ 6 เดือน ผลการศึกษาที่ 6 เดือน พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มศึกษามีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม (43.3% และ 6.7% ตามลำดับ) โดยกลุ่มศึกษาสามารถลดน้ำหนักตัวได้มากกว่าหรือเท่ากับ 5% จากน้ำหนักตัวเริ่มต้นได้มากกว่ากลุ่มควบคุม (30.0% และ 0% ตามลำดับ) กลุ่มศึกษาสามารถลดค่าดัชนีมวลกายจากค่าเริ่มต้นเหลือน้อยกว่า 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรได้มากกว่ากลุ่มควบคุม (13.33% และ 0% ตามลำดับ) เช่นเดียวกันกับสัดส่วนของรอบเอวต่อรอบสะโพกพบว่ากลุ่มศึกษาสามารถลดได้มากกว่ากลุ่มควบคาม (13.3% และ 0% ตามลำดับ) สรุปผลการศึกษา จากผลการศึกษาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าโปรแกรมควบคุมน้ำหนักโดยเภสัชกรสามารถลดน้ำหนักตัว และดัชนีมวลกายในผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับยาต้านโรคจิตนอก แบบที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน ข้อเสนอแนะ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยจิตเภทควรกระชับ เข้าใจได้ง่าย และควรมีการกระตุ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

Keywords: จิตเภท, การควบคุมน้ำหนัก, ยาต้านโรคจิต, โรคอ้วน, แรงจูงใจ, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Code: 2007000146

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: