ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร ทองบ่อ, นิมิต แก้วอาจ, สรานุช จันทร์วันเพ็ญ.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัดจังหวัดขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 172.

รายละเอียด / Details:

การที่จะช่วยให้ผู้เคยใช้สารเสพติดสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ โดยไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ จำเป็นต้องได้เรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม การเข้าใจตนเอง ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง มองชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีทักษะในการแก้ไขปัญหา และป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากสารเสพติดในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ดังกล่าว นอกจากการเรียนรู้จากสถานบำบัดต่างๆ แล้ว การมีโอกาสได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ตรงจากชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมในการบำเพ็ญประโยชน์ ดูแลความสงบในชุมชน ป้องกันปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสารเสพติด น่าจะช่วยให้ผู้เคยใช้สารเสพติดมีความเข้าใจตนเอง ครอบครัวและสังคมมองเห็นคุณค่าในชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่กลับไปใช้สารเสพติด และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสม วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัดจังหวัดขอนแก่น วิธีการศึกษา กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้เคยใช้สารเสพติดจำนวน 12 คน ที่เข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 การดำเนินโครงการประกอบด้วย 2 กระบวนการ คือ 1) กระบวนการเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน 2) กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเข้าพักอาศัยกับครอบครัวพักใจ 1 คนต่อ 1 ครอบครัว เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและสิ้นสุดโครงการจากกลุ่มเป้าหมายครอบครัวพักใจ นักวิชาการและบุคคลในชุมชน โดยการสัมภาษณ์รายบุคคล และการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความถี่ ร้อยละ และวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา มีผู้เข้าร่วมโครงการกำหนดจำนวน 11 คน ทั้งหมดไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ และมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นในด้านบุคลิกลักษณะ สุขอนามัยส่วนบุคคล การใช้เวลาประจำวัน การสื่อสาร และการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ระเบียบวินัย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเอง ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน คือ การหาพี่เลี้ยงเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ดูแล เป็นที่ปรึกษาแก่กลุ่มเป้าหมาย และครอบครัวเดิมมีส่วนร่วมน้อย สรุปผลการศึกษา โครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัดเป็นการดำเนินงานผ่านกลไกของครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต และวิถีชุมชนที่อยู่อย่างพอเพียง ช่วยให้ผู้เคยใช้สารเสพติดได้เรียนรู้และซึมซับสิ่งต่างๆ เกิดการปรับเปลี่ยนตัวเอง และไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ ข้อเสนอแนะ ความสำเร็จของโครงการเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านครอบครัว ดังนั้น การเสริมสร้างแรงจูงใจในครอบครัวเดิมมีส่วนร่วมในโครงการ จึงมีความสำคัญเพื่อที่จะดูแลประคับประคองให้ ผู้เคยใช้สารเสพติดดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างเหมาะสมเมื่อกลับสู่ครอบครัว ชุมชน

Keywords: สารเสพติด, การดำเนินชีวิต, ชุมชนเข้มแข็ง, ครอบครัว, การสร้างแรงจูงใจ, ยาเสพติด, ชุมชน, ทักษะชีวิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000149

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: