ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นวลลักษณ์ เลาหพันธ์.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการใช้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัด ที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) ของผู้ป่วยโรคจิตเภท ณ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 131.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ โรคจิตเภท เป็นโรคที่มีความผิดปกติของความคิด อารมณ์ การรับรู้ และพฤติกรรมบุคคลที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทนั้นส่วนหนึ่ง เกิดจากความคิดที่ไม่มีเหตุผล รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า วิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเภทเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น คือ การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัดเพราะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเภทเกิดความคิดที่มีเหตุผล มีวิธีผ่อนคลายความไม่สบายใจ และทำให้รู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากขึ้นได้ วัตถุประสงค์การวิจัย 3.1 เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) ของผู้ป่วยจิตเภทระหว่างก่อนการทดลองและหลังการทดลอง 3.2 เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) ของผู้ป่วยจิตเภทระหว่างกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมหลังการทดลอง วิธีการศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัด ที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) ของผู้ป่วยโรคจิตเภท ณ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ประชากรที่ศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยชายที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทอายุ 18-60 ปี และอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ในปี 2550 จำนวน 35 คน ใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 12 คน โดยวิธีจับฉลากจากกลุ่มประชากรที่สมัครใจทั้งหมด หลังจากนั้นให้ตอบแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 6 คน กลุ่มทดลองได้รับการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัด จำนวน 8 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการให้คำปรึกษาในการวิจัยครั้งนี้ ตัวแปรต้น ได้แก่ การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏีการพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม (REBT) ร่วมกับดนตรีบำบัด ตัวแปรตาม ได้แก่ ความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) สำหรับผู้ป่วยจิตเภท 2) โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ Pair sample t-test และ Independent t-test ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มทดลอง หลังสิ้นสุดการทดลอง มีคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) สูงกว่าก่อนการทดลอง และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สรุปผลการศึกษา สรุปผลการวิจัยได้ว่าการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัด สามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง) ของผู้ป่วยจิตเภทได้ ข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัย พบว่าสามารถนำโปรแกรมการให้คำปรึกษาที่ได้จากการวิจัยมาจัดทำเป็นคู่มือ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัด ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป สำหรับการวิจัยครั้งต่อไปน่าจะมีการนำการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฏี REBT ร่วมกับดนตรีบำบัด ไปพัฒนาการมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า หรือผู้ป่วยติดสุรา เพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนความคิดที่ไม่มีเหตุผล นำสู่ความรู้สึกที่มีความสุข และมีคุณค่าในตนเองมากขึ้น

Keywords: โรคจิตเภท, ดนตรีบำบัด, พฤติกรรม, ความฉลาดทางอารมณ์, ทฤษฎี REBT, การให้การปรึกษาแบบกลุ่ม, ให้การปรึกษา, ผู้ป่วยจิตเภท, คุณค่าในตนเอง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000151

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: