ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กนกกาญจน์ วิโรจน์อุไรเรือง, อัมพร สีลากุล, วิมาลา เจริญชัย และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ในคลินิกอดสุราผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 133.

รายละเอียด / Details:

การดื่มสุรามีผลกระทบต่อผู้เสพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นผู้ป่วยแอลกอฮอล์จึงควรได้รับการดูแลรักษาพยาบาลและให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ป่วยหยุดการดื่มหรือลดการดื่มสุราลงมาในระดับที่ปลอดภัย สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ดังนั้นจึงมีการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ใน คลินิกอดสุราแบบผู้ป่วยนอกขึ้น วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาจากงานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research) โดยการใช้แนวทางการเข้าสู่ระบบในการศึกษากลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยแอลกอฮอล์ที่มารับบริการ จำนวน 293 คน บุคลากรที่ปฏิบัติงานและเกี่ยวข้องในคลินิก อดสุรา จำนวน 13 คน การเก็บข้อมูลจากการทบทวนแฟ้มประวัติผู้ป่วยในคลินิกอดสุราและบันทึกเวชระเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาล และแบบสอบถามความคิดเห็นการปฏิบัติงานในคลินิกอดสุราแบบบันทึกการบำบัดรักษาและติดตามผลการบำบัดรักษาผู้ป่วยแอลกอฮอล์ และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการในคลินิกอดสุรา การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา นำเสนอเป็นแบบบรรยายผลการศึกษา ปัจจัยนำเข้าที่มีความเหมาะสม ได้แก่ ด้านเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ แนวทางการให้บริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร สถานที่ในการจัดตั้งคลินิกอดสุรามีความปลอดภัย ส่วนปัจจัยนำเข้าที่ควรปรับปรุง ได้แก่ สถานที่ในการบำบัดรักษา กระบวนการดำเนินงานที่เหมาะสม ได้แก่ การคัดกรองผู้ป่วยเข้ารับบริการ การสัมภาษณ์ประวัติผู้ป่วย การประเมินปัญหาผู้ป่วย กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือ การบันทึกข้อมูลและสรุปปัญหาที่พบของผู้ป่วย การประเมินติดตามผู้ป่วย การติดต่อประสานงาน การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน การสรุปผลการดำเนินงาน กระบวนการที่ควรปรับปรุง คือขั้นตอนการให้บริการในคลินิกอดสุรา ผลผลิตที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยแอลกอฮอล์ ที่มารับบริการในคลินิกอดสุรา จำนวน 293 คน รวบรวมข้อมูลได้ 187 คน มีการติดตามดูแลใน 6 เดือน ร้อยละ 39.08 ผลผลิตที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ มีความพึงพอใจต่อการให้บริการ ผลผลิตที่ต้องปรับปรุง คือ ความพึงพอใจด้านความสะดวกที่ได้รับจากบริการส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพบว่า ผู้ป่วยแอลกอฮอล์ได้รับการติดตาม สามารถหยุดดื่มได้นาน 6 เดือน ร้อยละ 52.9 อภิปราย สรุปและข้อเสนอแนะ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ จำเป็นจะต้องมีปัจจัยนำเข้าด้าน กระบวนการระบบบริการ เพื่อตอบสนองต่อผลผลิตและผลลัพธ์ แต่จากผลการศึกษาพบว่า มีบางประเด็นที่ควรปรับปรุง เช่น ขั้นตอนการให้บริการที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผู้ป่วยแอลกอฮอล์ที่มารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ และมีผู้ป่วยบางส่วนที่มีภาวะโรคร่วม ซึ่งอาจเป็นปัญหาอุปสรรค จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ในคลินิกอดสุรา และควรมีการวิเคราะห์และปรับปรุงพัฒนาขั้นตอนในการให้บริการผู้ป่วยแอลกอฮอล์ในคลินิกอดสุรา อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งควรจัดให้มีกิจกรรมการติดตามผู้ป่วยแอลกอฮอล์ เช่น กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มครอบครัว เป็นต้น

Keywords: แอลกอฮอล์, การพัฒนาระบบบริการ, คลินิกอดสุรา, ยาเสพติด, สารเสพติด, ดื่มสุรา, ระบบบริการ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

Code: 2007000152

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: