ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรทิพย์ วชิรดิลก, สมพร รุ่งเรืองกลกิจ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมการปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจร่วมกับการปรับพฤติกรรมทางความคิดต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยจิตเภท.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 135.

รายละเอียด / Details:

การกลับป่วยซ้ำของโรคจิตเภทเป็นปัญหาที่สำคัญ มีปัจจัยเกี่ยวข้องซับซ้อน โดยพบมากที่สุด คือ การไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจร่วมกับการปรับพฤติกรรมทางความคิดต่อความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยจิตเภท วัสดุและวิธีการ เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง วัดก่อนและหลังทดลองเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มารับบริการที่คลินิกจิตเวชโรงพยาบาลอุดรธานี จำนวน 100 คน แบ่งกลุ่มโดยวิธีจับคู่ตามระยะเวลาการเจ็บป่วยและผลกระทบจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการปรึกษาฯ 5 ขั้นตอน คือ 1) สัมพันธภาพเพื่อการบำบัด 2) การสืบค้นความเชื่อ และความลังเลใจเกี่ยวกับการรักษา 3) การปรับโครงสร้างทางปัญญา 4) การฝึกการรับประทานด้วยตนเอง และ 5) การแสดงออกทางอารมณ์ในครอบครัวต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม กลุ่มควบคุม ได้รับการดูแลปกติ เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) แบบประเมินพฤติกรรมการใช้ยา 2) แบบประเมินอาการทางจิต 3) แบบประเมินความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวขณะกินยาจิตเวช 4) แบบประเมินการแสดงออกทางอารมณ์ในครอบครัว และ 5) แบบประเมินสภาวะจิตชนิดสั้น เก็บรวบรวมข้อมูล 4 ระยะ คือ 1 เดือนก่อนทดลอง หลังทดลอง ระยะติดตาม 3 และ 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดย repeated measurement ANOVA ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มทดลองที่ได้รับการปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจร่วมกับการปรับพฤติกรรมทางความคิด มีการพัฒนาด้านพฤติกรรมความร่วมมือในการรักษา และความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวขณะกินยาจิตเวช ในระยะหลังทดลอง ติดตามประเมินผล 3 และ 6 เดือน มากกว่า กลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุป การปรึกษาตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจร่วมกับการปรับพฤติกรรมทางความคิดสามารถเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาในผู้ป่วยจิตเภทได้อย่างต่อเนื่อง มีแรงจูงใจในการรับประทานยาตามแผนการรักษา และลดโอกาสเสี่ยงต่อการกลับป่วยซ้ำ ข้อเสนอแนะ ควรมีการประเมินแรงจูงใจ และกระตุ้นโปรแกรมฯ ซ้ำเป็นระยะฯ เพื่อป้องกันการกลับป่วยซ้ำในระยะยาวต่อไป และควรมีการพัฒนาโปรแกรมการเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วยจิตเภทและญาติในชุมชน ลักษณะโปรแกรม Home care

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, ความร่วมมือในการรักษา, การสร้างแรงจูงใจ, การปรับพฤติกรรม, พฤติกรรม, การปรึกษารายบุคคล, ให้การปรึกษา, โรคจิตเภท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ มหาวิทยาขอนแก่น.

Code: 2007000154

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: