ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดรุณี ตันติเจริญวิวัฒน์, อรัญญา เชาวลิต, วันดี สุทธรังสี.

ชื่อเรื่อง/Title: การตัดสินใจเชิงจริยธรรมของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช การเคารพสิทธิผู้ป่วยกับการกระทำ/การดูแลที่เป็นประโยชน์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 139.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นบุคลากรกลุ่มหนึ่งในทีมสุขภาพ มีโอกาสเผชิญกับประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมและต้องมีการตัดสินใจเชิงจริยธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน การดูแลผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติในการรับรู้ อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ด้วยลักษณะดังกล่าว ผู้ป่วยจึงเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดสิทธิได้ง่าย ดังนั้นทักษะในการตัดสินใจเชิงจริยธรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้พยาบาลสามารถเผชิญกับประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรม ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาว่าในการเผชิญประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมระหว่าง การเคารพเอกสิทธิผู้ป่วย กับการทำ/การดูแลที่เป็นประโยชน์ พยาบาลตัดสินใจเชิงจริยธรรมอย่างไร ด้วยเหตุผล/หลักการใด วิธีการศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพจำนวน 135 คน เลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและแบบสอบถามการตัดสินใจตามสถานการณ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรม โดยผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และตรวจสอบความเที่ยงโดยการหาค่าคงที่ของการวัดซ้ำได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ ร้อยละ 90 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยาย ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุดคือ ร้อยละ 48.2 ตัดสินใจแก้ไขประเด็นขัดแย้งโดยรายงานแพทย์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างใช้หลักการ/เหตุผลคือการเคารพสิทธิของผู้ป่วย และเพื่อให้แพทย์ทบทวนแผนการรักษาตามความต้องการของผู้ป่วย ร้อยละ 90.8 เท่ากัน ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 53.9 ระบุว่า การเคารพสิทธิผู้ป่วย เป็นหลักการ/เหตุผลที่สำคัญที่สุดใน การตัดสินใจเชิงจริยธรรม สรุปผลการศึกษา ในการเผชิญประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรม พบว่า พยาบาลมีการตัดสินใจแก้ไขประเด็นขัดแย้งหลากหลายวิธี และส่วนใหญ่ตัดสินใจโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางแต่วางบนเหตุผลที่แตกต่างกัน ข้อเสนอแนะ หากหน่วยงานนำผลที่ได้ไปพัฒนาแนวทางการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่ชัดเจนจะช่วยให้พยาบาลปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น

Keywords: การดูแลผู้ป่วยจิตเวช, จริยธรรม, พฤติกรรม, สิทธิผู้ป่วย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, พยาบาล, พยาบาลวิชาชีพ, การพยาบาลจิตเวช, ปฏิบัติการพยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Code: 2007000158

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: