ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุธา ไลชาติกุล.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาแนวทางการจัดการความเสี่ยงต่อความสามารถในการตัดสินใจในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภท สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 140-141.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปัจจุบันการใช้ยารักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) มีการใช้ยาอย่างกว้างขวาง แต่ยาทุกขนานต่างก็มีผลข้างเคียง (side effects) เช่น extrapyramidal, anti – cholinergic การเคลื่อนไหวผิดปกติ ความดันโลหิตลดลง และง่วงนอน (sedative) แต่ยังมีผลข้างเคียงอีกชนิดหนึ่งที่พบไม่บ่อย แต่มีอาการรุนแรงต่อชีวิตผู้ป่วยได้ ซึ่งถือว่าเป็นผลข้างเคียงทางระบบประสาท ที่เรียกว่า กลุ่มอาการนิวโรเล็พติก (Neuroleptic malignant syndrome) ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเภท ถึงร้อยละ 50 ซึ่งกลุ่มอาการนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลจากการรักษาด้วยยารักษาโรคจิต ถึงแม้ว่าจะพบน้อยมาก แต่มีผลรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับระบบต่างๆได้ ทั้งระบบหายใจ ระบบหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งไตวายที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในปัจจุบันพบว่านอกจากยารับประทานที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกแล้วยารักษาโรคจิตชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ออกฤทธิ์นาน (depot antipsychotic medication) ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกได้สูงกว่ายารับประทาน และพบอัตราการตายได้สูงถึงร้อยละ 20-30 ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า และร้อยละ 50 เกิดในผู้ป่วย Schizophrenia และมีปัจจัยที่ทำให้เกิด กลุ่มอาการนิวโรเล็พติกได้ง่ายขึ้น ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ร่างกายไม่แข็งแรง หรืออ่อนเพลีย ภาวะขาดสารอาหาร และกลุ่มอาการทางสมอง นอกจากนี้พบว่าพยาบาลยังไม่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกซึ่งความรุนแรงและลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน การวินิจฉัยเบื้องต้นค่อนข้างยากผู้ศึกษาจึงนำแนวคิดการจัดการความเสี่ยง (risk management) ของอนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การค้นหาความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง และการประเมินผลเพื่อติดตามและป้องกันการเกิดกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเหตุผลข้างต้น จึงได้ศึกษาแนวทางการจัดการความเสี่ยงต่อความสามารถในการตัดสินใจในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภท สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อผู้ปฏิบัติการพยาบาลจะนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท มิให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายถึงชีวิต วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการตัดสินใจในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภทก่อนและหลังการใช้แนวทางการจัดการความเสี่ยงสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา วิธีการดำเนินการ การศึกษาแนวทางการจัดการความเสี่ยง ต่อความสามารถในการตัดสินใจในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภท สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นการศึกษาในกลุ่มเดียว วัดก่อนและหลังการใช้แนวทางการจัดการความเสี่ยง มีการคัดเลือกประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยจิตเวช สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หอผู้ป่วยละ 1-2 คน จำนวน 20 คน โดยเลือกผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวช อย่างน้อย 1 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แนวทางการจัดการความเสี่ยงกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติก แผนการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติก และแนวทางการจัดการความเสี่ยงกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภท 4 ขั้นตอนดังกล่าว และมีแบบวัดความรู้เกี่ยวกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติก กระบวนการจัดการความเสี่ยงในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติก ซึ่งใช้วัดความรู้ของพยาบาลวิชาชีพ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก่อนและหลังเข้ารับการอบรม เก็บรวบรวมข้อมูล จากแบบวัดความสามารถในการตัดสินใจในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติก โดยใช้แบบทดสอบอัตนัยประยุกต์ (เอ็ม อี คิว) ครอบคลุม 4 ขั้นตอน คือ การรวบรวมข้อมูล การวินิจฉัยปัญหา การพิจารณาทางเลือกในการตัดสินใจ และการตัดสินใจปฏิบัติ มีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติที่ (Paired t-test) กำหนดค่าระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการศึกษา พบว่า แนวทางการจัดการความเสี่ยงกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภท ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจในการจัดการกับกลุ่มอาการนิวโรเล็พติกในผู้ป่วยโรคจิตเภทของพยาบาลวิชาชีพ หลังการอบรมการใช้แนวทางการจัดการความเสี่ยงสูงกว่าก่อนการอบรมการใช้แนวทางการจัดการความเสี่ยง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งทำให้การปฏิบัติการพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อเสนอแนะ ควรประเมินความคิดเห็นในด้านการใช้แนวทางการจัดการความเสี่ยงจากพยาบาลวิชาชีพ หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการนี้แล้ว เพื่อให้ทราบประโยชน์ที่ได้รับ และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการนำไปใช้ในหอผู้ป่วย และควรทำการศึกษาวิจัยต่อในเรื่องของผลกระทบที่เกิดกับผู้ป่วย เช่น อัตราการเสียชีวิตอัตราการเกิดทุพพลภาพ จากการเกิดกลุ่มอาการนิวโรเล็พติก

Keywords: การจัดการความเสี่ยง, นิวโรเล็พติก, ผู้ป่วยจิตเภท, โรคจิตเภท, ยารักษาโรคจิต, ยาจิตเวช, ผลข้างเคียงของยา, การจัดการความเสี่ยง, schizophrenia, neuroleptic malignant syndrome, antipsychotic medication

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา.

Code: 2007000159

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: