ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรประไพ แขกเต้า, นิรมล โกสิยพันธ์, จลี เจริญสรรพ์ และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการการสนับสนุนยาด้วยระบบประกันสุขภาพทางไปรษณีย์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 198.

รายละเอียด / Details:

จากการศึกษาข้อมูลการกลับมารักษาซ้ำของผู้ป่วย พบว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มียาบางชนิดตามแผนการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ทำให้ได้รับยาไม่ครบถ้วนทั้งๆ ที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการรับประทานยาดี และยางบางตัวต้องดูแลใกล้ชิดจากจิตแพทย์ เช่น Clozapine ซึ่งต้องนัดพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ แต่ผู้ป่วยมีปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง โดยเฉพาะปัญหาด้านการเงินและระยะทาง บางรายญาติต้องหยุดงานสูญเสียรายได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามแผนการรักษาของจิตแพทย์ แต่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามระบบประกันสุขภาพ จากเหตุผลดังกล่าวงานจิตเวชชุมชนได้ประชุมปรึกษาร่วมกับผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในเครือข่าย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างน้อย 6 เดือน และสนับสนุนการดำเนินงานการติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างต่อเนื่องของโรงพยาบาลเครือข่าย รวมทั้งเพื่อให้เกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้รับบริการ คือ รับประทานยาสม่ำเสมอ มีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่สะดวกในการเดินทางมารับยา โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ คือ 1. ประเมินปัญหาและความต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชนคุณสมบัติตามที่กำหนด โดยทีมสหวิชาชีพขณะผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล 2. ให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับวิธีการขอรับความช่วยเหลือจากผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิต ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน เอกสารประกอบการเบิกยาตามระบบประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการส่งยาทางไปรษณีย์ 3. พยาบาลจิตเวชชุมชนแจ้งให้ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในโรงพยาบาลเครือข่ายทราบ 4. ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในโรงพยาบาลเครือข่าย ประสานงานกับพยาบาลจิตเวชชุมชน เพื่อดำเนินการขอรับยาให้ผู้ป่วยโดยระบบประกันสุขภาพตามแบบฟอร์มที่กำหนด 5. พยาบาลจิตเวชชุมชนรายงานแพทย์ เพื่อขอรับยาแทนผู้ป่วยและจัดส่งให้เครือข่ายทางไปรษณีย์ ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2549 พบว่า มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 คน เป็นผู้ป่วยในจังหวัดระนอง 14 คน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 คน จังหวัดชุมพร 2 คน จังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 คน และผู้ป่วยทุคนสามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้นานเกิน 6 เดือน ญาติพึงพอใจที่ได้รับบริการใกล้บ้าน ผู้ปฏิบัติงานในเครือข่ายมีความพึงพอใจที่สามารถแก้ปัญหาการขาดยาให้กับผู้ป่วยในความรับผิดชอบได้ ข้อเสนอแนะ กรมสุขภาพจิตควรจัดทำ KM เรื่องการแก้ไขปัญหาการรับประทานยาของผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นี้เป็นบทเรียนบทหนึ่งที่จะทำให้โรงพยาบาลเครือข่ายต่างๆ นำไปใช้ได้วย

Keywords: ระบบประกันสุขภาพ, ยา, ไปรษณีย์, พฤติกรรมการรับประทานยา, จิตเวชชุมชน, ยาไปรษณีย์, ยารักษาทางจิตเวช, เครือข่าย, ชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์.

Code: 2007000181

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: