ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โรงพยาบาลมะการักษ์.

ชื่อเรื่อง/Title: การส่งเสริมและฟื้นฟูพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเภทโดยครอบครัวมีส่วนร่วม.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 205-210.

รายละเอียด / Details:

การบริการสาธารณสุขในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการให้บริการในโรงพยาบาลเป็นการบริการในชุมชนมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ความหมายของการดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นความหมายกว้างๆ ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยในระยะพักฟื้น ผู้ป่วยเรื้อรังที่พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งผู้ป่วยโรคจิต ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน หมายถึงการให้บริการอย่างต่อเนื่องที่ให้กับผู้ป่วยและครอบคัวที่บ้าน เป็นการบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวภายใต้การจัดระบบบริการที่มีความพร้อมของผู้ให้บริการสุขภาพและหน่วยงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การดำรงรักษาสุขภาพ และคงสภาวะสุขภาพที่ดี หรือในระดับที่สามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด การรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา มุ่งเน้นการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งใช้ระยะเวลาการรักษานานจนกว่าอาการทางจิตจะทุเลาและกลับบ้านได้ ผู้ป่วยจิตเวชบางรายต้องอยู่โรงพยาบาลตลอดชีวิต การอยู่โรงพยาบาลนานไปทำให้ผู้ป่วยขาดความคิดริเริ่ม ไม่สนใจกับสังคม ปรับตัวไม่เหมาะสมและบุคลิกภาพเสื่อมถอย รวมทั้งสัมพันธภาพของผู้ป่วยกับครอบครัวก็ห่งเหินกันไป เมื่อกลับไปอยู่บ้านทำให้ปรับตัวได้ยาก การดำเนินโรคของผู้ป่วยจิตเวชมีระยะเวลายาวนาน และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูงมาก ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐเสียงบประมาณจำนวนมาก จึงทำให้ต้องหสวิธีลดค่าใช้จ่าย ปัญหาเช่นนี้เป็นเหมือนกันในหลายๆ ประเทศ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การทำให้ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลในระยะสั้น ทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนทั้งที่ขาดทักษะในการดำเนินชีวิต รวมทั้งชุมชนยังไม่ยอมรับและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยจิตเวช ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง ดังนั้นผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เก็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านมากขึ้น การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจึงมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านถูกเน้นให้มีความสำคัญระดับประเทศ เห็นได้จากในแผนพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) จนถึงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายหลักคือ การป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น ส่งเสริมให้ประชาชนมีภาวะสุขภาพที่ดี โดยสนับสนุนและช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองและพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้ผู้ให้บริการสุขภาพจะต้องประเมินปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัว วางแผน ประสานงานให้บริการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม กับความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วยและครอบครัว ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งบริการที่ให้เหล่านี้จะต้องใช้ทักษะ การรักษาพยาบาล การสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการบำบัดต่างๆ โรงพยาบาลมะการักษ์ ได้เล็งเหฌนความสำคัญของปํยหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเภทโดยครอบครัวมีส่วร่วมขึ้น เพื่อดำเนินการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน เน้นการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ซึ่งเป็นการสร้างแบบในการให้บริการการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้เกิดกิจกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยและครอบครัว ให้ชมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับผู้ให้บริการสุขภาพทั้งในระดับสถานีอนามัยและโรงพยาบาล โดยใช้ระบบการส่งต่อและการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักและแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ส่งเสริมความสามารถในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในชุมชนได้นานขึ้น วัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภทมากขึ้นและมีพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม 2) ครอบครัวมีความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยและสามารถดูแลผู้ป่วยได้ 3) เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำของโรคจิต เป้าหมาย ผู้ป่วยโรคจิตเภทใน อ.ท่ามะกา ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 30 ราย สถานที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ระยะเวลา 1 ปี (มกราคม 2549-ธันวาคม 2549) วิธีดำเนินการ 1) ขั้นเตรียมการ 1.1) นำเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติในหลักการ 1.2) ประสานกับหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 1.3) กำหนดตารางและโปรแกรมในการให้บริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย 1.4) กำหนดตามตารางการอบรมเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลา 1 วัน จำนวน 50 คน (เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและแกนนำชุมชน) 1.5) จัดทำเอกสาร คู่มือ แผ่นพับเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทที่บ้าน 2.) ขั้นดำเนินกร 2.1) คัดเลือกผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมโครงการ จำนวน 30 ราย ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้โดยจะต้องมีเกณฑ์ข้อ 2.1.1 และข้ออื่นๆ ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ 2.1.1) ผู้ป่วยที่อยู่ในเขต อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 2.1.2) ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่องและ/หรือมีการกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ 2.1.3) ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และ/หรือผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาล 2.1.4) ผู้ดูแลไม่สามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้และ/หรือไม่มีผู้ดูแล 2.2) จัดตารางการให้บริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยตามลำดับความรุนแรงของปัญหา โดยหมุนเวียนการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยตามโปรแกรมการเยี่ยมบ้านดังเอกสารแนบ (ให้บริการเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.) 2.3) จัดทีมผู้ให้บริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ซึ่งจะประกอบด้วย พยาบาลจิตเวช เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อกเภอที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและ/หรือแกนนำชุมชนที่รับผิดชอบในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอยู่และออกให้บริการเยี่ยมบ้านตามโปรแกรมที่กำหนด 2.4 จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องผู้ป่วยจิตเภทและรูปแบบการติดตามผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนให้แก่ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและแกนนำชุมชนใน อ.ท่ามะกาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 50 คน 2.5) มีติดตามผู้ป่วยเภทที่เป็นเป้าหมายในโครงการ โดยเครือข่ายในชุมชน อย่างน้อย 3 ครั้ง/ 1 ปี 3) ขั้นติดตามและประเมินผล 3.1 ผู้เข้าร่วมโปรแกรม ประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยจิตเวช ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ประเมินจากคะแนนความรู้ของผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคจิตและคะแนนความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสำหรับญาติ ภายหลังเสรฺจสิ้นการดเนินโครงการ 1.2 ประเมินผลหลังการดำเนินการใช้โปรแกรมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการและหาแนวทางแก้ไขใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และนำเสนอในรูปของการบรรยาย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1) ผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนที่ได้รับการดูแลตามโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านมีอัตราการป่วยซ้ำลดลงและสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ 2) มีรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนอื่น ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้ ผลการดำเนินงาน กิจกรรมที่ 1 การจัดการอบรมให้ความรู้เครือข่ายงานสุขภาพจิตในเขต อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย อสม. และผู้นำชุมชน ในเขต อ.ท่ามะกา จำนวน 36 คน โดยมีข้อมูลดังนี้ ข้อมูลทั่วไปของผู้รับการอบรม ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 78 เพศชาย ร้อยละ 22 อายุของผู้เข้ารับการอบรม ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30-50 ปี ร้อยละ 60 มีอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 36 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 28 นอกจากนั้นประกอบอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 36 ผลการวัดความรู้ ก่อน-หลังการอบรม พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับคะแนนหลังการอบรม อบรมสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการอบรมโดยที่ระดับคะแนนหลังการอบรมคิดเป็นร้อยละ 75 ของคะแนนที่ได้ ส่วนระดับคะแนนก่อนการอบรมคิดเป็นร้อยละ 55 ของคะแนนที่ได้ ผลการประเมินความพึงพอใจในการอบรม พบว่า ระดับของความพึงพอใจในการอบรมอยู่โดยรวมในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 78 และรองลงมาความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 21 หัวข้อที่ได้รับความพึงพอใจมากที่สุดคือ ความเหมาะสมของวิทยากรในการอบรมและความรู้ที่ได้จากการอบรมเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงาน คิดเป็นร้อยละ94 ส่วนห้วข้อที่มีความพึงพอใจน้อยที่สุด คือความเหมาะสมของระยะเวลาในการอบรม คิดเป็นร้อยละ43 กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยในเขต อ.ท่ามะกา และพยาบาลโรงพยาบาลมะการักษ์ จำนวน 32 คน โดยมีข้อมูลดังนี้ ข้อมูลทั่วไปของผู้รับอารอบรม ผู้เข้ารับการอบรมเป็นเพศหญิงทั้หงมด อายุอยู่ในช่วง 30-50 ปี ร้อยละ 75 มีอาชีพรับราชการทั้งหมด ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 88 ผลการวัดความรู้ ก่อน-หลังการอบรม พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับคะแนนหลังการอบรม อบรมสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการอบรม โดยที่ระดับคะแนนหลังการอบรมคิดเป็นร้อยละ 86 ของคะแนนที่ได้ ส่วนระดับคะแนนก่อนการอบรมคิดเป็นร้อยละ 73 ของคะแนนที่ได้ผลการประเมินความพึงพอใจในการอบรม พบว่าระดับของความพึงพอใจในการอบรมอยู่โดยรวมในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 53 และรองลงมาความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 38 หัวข้อที่ได้รับความพึงพอใจมากที่สุดคือ ความเหมาะสมของเนื้อหาในการจัดการอบรม ความรู้ที่ได้ในการจัดการอบรมเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานและอาหาร เครื่องดื่ม ตลอดการอบรม คิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนหัวข้อที่มีความพึงพอใจน้อยที่สุด คือ ความเหมาะสมของระยะเวลาในการอบรมคิดเป็นร้อยละ 20 กิจกรรมที่ 2 การจัดบริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวช การศึกษาและดำเนินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนอำเภอท่ามะกา โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน ก่อนและหลังการได้รับการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน สรุปข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้จากการดำเนินโครงการ การดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้านในโครงการครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมในการดูแลตนเองที่บ้านได้ดีขึ้นแล้ว ผู้ดำเนินโครงการได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ถูดถึงความคิดเห็น ความรู้สึกและประโยชน์ที่ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ โดยสรุปคือ 1) เป็นปิจกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยและพยาบาลได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้สึก และความต้องการร่วมกันได้อย่างค่อนข้างใกล้ชิด 2) ผู้ป่วยรับรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคจิตเภท ที่จะต้องรับการรักษาด้วยยา ต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษา ต้องดูแลตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และรับรู้ถึงวิธีการดูแลตนเองเพื่อลดการป่วยซ้ำและการเป็นภาระแก่ครอบครัว 3) ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่า มีความสำคัญจากการที่พยาบาลติดตามเยี่ยมถึงที่บ้านและถามไถ่ทุกข์สุข เป็นห่วงสุขภาพของตนเอง ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองมากขึ้น 4) สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจภาวการณ์เจ็บป่วยของผู้ป่วยมากขึ้นความกลัวที่จะต้องดูแลผู้ป่วยลดน้อยลง ปัญหาและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการเยี่ยมบ้านทำให้ผู้ป่วยมีระดับพฤติกรรมการดูแลตนเองสูงขึ้น แต่เมื่อจำหน่ายผู้ป่วยนอกโครงการแล้วติดตามประเมินซ้ำพบว่า ระดับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยบางรายลดลง เนื่องจากครอบครัวมีภาระค่อนข้างมาก ทำมให้ไม่มีเวลาในการดูแลผู้ป่วย จึงขาดการกระตุ้นเตือนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาเครือข่ายแกนนำในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ครอบครัวของผู้ป่วยจิตเภทอย่างต่อเนื่อง โดยรวมการจัดกิจกรรมทั้งหมดได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร ในมุมมองต่างๆ ดังนี้ 1. การพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทในหน่วยบริการและในชุมชน จากการดำเนินโครงการ มีการพัฒนาให้ความรู้เครือข่ายผู้ดูแลผู้พิการทางจิตในสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่และผู้ดูแลในครอบครัว เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมสามารถฟื้นฟูพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้พิการทางจิตได้เบื้องต้น ส่งผลให้เกิดระบบเครือข่ายในการดูแลผู้พิการทางจิตในพื้นที่ ตั้งแต่ครอบครัวของผู้ป่วย อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโรงพยาบาล มีผลพลอยได้ในเรื่องเกิดมีระบบการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวชในพื้นที่ เช่น ในการดำเนินโครงการเยี่ยมบ้าน พบผู้ป่วยจิตเภทที่ไม่ได้รับการรักษา รายใหม่ 5 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะการบำบัดรักษา 2) การพัฒนาศักยภาพคนพิการทางจิต ครอบครัว หรือผู้ดูแลผู้พิการทางจิตมีระดับพฤติกรรมการดูแลตนเองสูงขึ้น จากระดับต่ำเป็นระดับปานกลาง โดยมีครอบครัวและผู้ดูแลมีส่วนร่วมในการกระตุ้นและช่วยเหลือในบางครั้งครอบครัวและผู้ดูแลมีภาระลดลงบางส่วนและมีความเข้าใจการดูแลผู้พิการทางจิตมากขึ้น 3) การมีส่วนร่วมของคนพิการทางจิตและครอบครัว ในกิจกรรมที่จัดผู้ป่วยและครอบครัวให้ความร่วมมือลและมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 4) การเผยแพร่ความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการตรวจและประเมินระดับความพิการทางจิต เพื่อทำใบรับรองความพิการประกอบการทำสิทธิบัตรในการรักษาพยาบาล ในรายที่จัดเป็นผู้พิการไม่สามารถดูแลตนเองได้ ประสานงานกับสังคมสงเคราะห์ เพื่อดำเนินการเรื่องเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้พิการต่อไป 5) ผลการดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามแผนงานโครงการหรือไม่ อย่างไร และมีการปรับเปลี่ยนแผนงานหรือไม่ อย่างไร เหตุใดจึงต้องปรับเปลี่ยน ผลการดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด แต่มีการปรับเปลี่ยนลำดับการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยตามความเหมาะสม เนื่องจากพิจารณาตามความเร่งด่วนของปัญหาของผู้ป่วย ในรายที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจะปรับให้ได้รับการเยี่ยมบ้านก่อน ในขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการเยี่ยมบ้านครบตามแผนการดำเนินโครงการแล้ว ยังอยู่ในระยะการดำเนินการติดตามเยี่ยมต่อ โดยเจ้าหน้าที่ในชุมชน

Keywords: ฟื้นฟูสรรมภาพทางจิตเวช, ผู้ป่วยจิตเภท, การฟื้นฟูพฤติกรรม, การดูแลตนเอง, ครอบครัว, ผู้ป่วยจิตเวช, ชุมชน, จิตเวชชุมชน, การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลมะการักษ์.

Code: 2007000188

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: