ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พูนศรี รังสีขจี, นิรมล พัจนสุนทร, หทัยวัน สนั่นเอื้อ

ชื่อเรื่อง/Title: ความชุกของโรคซึมเศร้าในคู่สมรสของผู้ป่วยโรคติดสุราที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 51, ฉบับที่ 3, กรกฎาคม-กันยายน 2549, หน้า 14.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกและระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าชนิดต่างๆ ได้แก่ dysthymic disorder โรคซึมเศร้าที่เป็นครั้งเดียว (single depressive disorders) หรือโรคซึมเศร้าที่กลับเป็นซ้ำ (recurrent depressive disorders) และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าในคู่สมรสของผู้ป่วยโรคติดสุรา ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ วัสดุและวิธีการ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง ในโรงพยาบาลโดยการสัมภาษณ์คู่สมรสของผู้ป่วยโรคติดสุราที่มารับการรักษาที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของแผนกจิตเวช โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงโครงสร้าง (structured interview) ด้วยแบบสอบถาม CIDI (Composite International Diagnostic Interview) section E ภาคภาษาไทย ซี่งมี 2 ชุด ชุดที่ 1 เป็นการประเมินว่ามีโรคซึมเศร้าหรือไม่ และชุดที่ 2 ประเมินความรุนแรงของอาการ และให้มีการวินิจฉัยตามเกณฑ์ ICD-10 จากนั้น รวบรวมข้อมูลและทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS Version 10.0 สถิติวิจัยใช้ descriptive statistic ในการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและจำนวนผู้ที่มีโรคซึมเศร้า โดยแยกผลลัพธ์เป็น dichotomous outcome ใช้ค่าร้อยละ และหาค่าความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ด้วย Pearson chi-square and Fisher's exact test ผลการศึกษา มีคู่สมรสของผู้ป่วยโรคติดสุราสมัครใจให้สัมภาษณ์ทั้งสิ้น 48 คน พบว่ามีโรคซึมเศร้าคิดเป็นร้อยละ 85.42 ส่วนใหญ่เป็นภรรยาและได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคซึมเศร้าที่กลับเป็นซ้ำ (recurrent depressive disorders) มากที่สุดร้อยละ 20.8 เพศ เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p=0.03 (OR 9.5, 95% CI=1.4-63.7) สรุป จากการวิจัยพบว่ามีการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงในภรรยาของผู้ป่วยโรคติดสุราและมักป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดกลับเป็นซ้ำ (recurrent depressive disorders) ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการดื่มสุรา นอกจากมีผลกระทบโดยตรงต่อตัวผู้ดื่มเองแล้ว ยังมีผลกระทบต่อคู่สมรส และครอบครัวด้วย ดังนั้นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยโรคติดสุรา ควรประเมินให้ครอบคลุมไปถึงปัญหาภายในครอบครัวด้วย เพื่อการดูแลแบบองค์รวมต่อไปในระยะยาว.

Keywords: คู่สมรสของผู้ป่วยโรคติดสุรา, โรคซึมเศร้า, ความชุก, ซึมเศร้า, สุรา, สารเสพติด, แผนกจิตเวช, ดื่มสุรา, โรคติดสุรา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, แผนกจิตเวช โรงพยาบาลกาฬสินธุ์

Code: 200700019

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: