ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิมพ์กุล กำจาย, อมรรัตน์ พูลทอง, อำพร โปสจา.

ชื่อเรื่อง/Title: สายใยรักจากชุมชน : กรณีศึกษาการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภทไร้บ้าน ไร้อาชีพ โดยกลยุทธ์ชุมชนเพื่อชุมชน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 216.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ ผู้ป่วยจิตเภทที่ชุมชนรังเกียจ ได้หาแนวทางการสื่อสารกับชุมชน จนชุมชนมีทัศนคติเชิงบวกและรู้สึกถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะที่ผู้ป่วยเป็นสมาชิกของชุมชน ผู้ป่วยได้รับการฝึกกิจกรรมฟื้นฟูทางอาชีพ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรหรืออาชีพที่มีอยู่ในชุมชนเป็นหลัก ได้นำอาชีพที่มีอยู่ในชุมชนมาฝึกให้ผู้ป่วย จนเกิดความชำนาญ มีทักษะเพิ่มขึ้นสามารถกลับสู่ชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำให้ผู้ป่วยมีอาชีพมีที่อยู่อาศัย เป็นที่ต้องการของชุมชน วัตถุประสงค์ 1) ศึกษารูปแบบการสื่อสารกับชุมชนเพื่อสร้างทัศนคติเสริมแรงจูงใจเชิงบวกต่อผู้ป่วย 2) ศึกษารูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ สังคม แบบชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย 3) ศึกษาการแก้ปัญหาทางจิต สังคมที่ชุมชนออกแบบกันเอง 4) ศึกษาอาชีพในชุมชนที่จะเป็นแรงผลักดันในการสร้างงานและรายได้แก่ผู้ป่วย 5) พัฒนารูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนเพื่อผู้ป่วยอื่นๆ วิธีการศึกษา กรณีศึกษาแบบไปข้างหน้าไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบใช้การลงเยี่ยมชุมชน การสัมภาษณ์ สังเกต เพื่อประเมินผลความเปลี่ยนแปลงทั้งของผู้ป่วยและชุมชนในการติดตามความก้าวหน้า ผลการศึกษา ผู้ป่วยหญิงไทย โสด อายุ 42 ปี ภูมิลำเนา อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคจิต 3 ใน 5 คน ผู้ป่วยถูกกำนันและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำส่ง เพราะมีพฤติกรรมก้าวร้าว กลางคืนไม่นอนอาละวาด ใช้ก้อนหินขว้างปาบ้านและรถยนต์ ก่อความไม่สงบในชุมชนและมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ชุมชนขับไล่ให้ออกไปอยู่ที่อื่น ภายหลังการรักษาผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทแบบหวาดระแวง มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ผู้ป่วยไร้บ้าน ไร้อาชีพ จากกาประเมินศักยภาพรวมทั้งการฟื้นฟูทางด้านกิจกรรมขณะอยู่ในโรงพยาบาลและการติดตามเยี่ยมเพื่อสื่อสารในชุมชนโดยใช้นวัตกรรมหนังสั้นเกี่ยวกับกิจกรรมการฟื้นฟูทางอาชีพ ทำให้ชุมชนยอมรับการเจ็บป่วยและมองเห็นศักยภาพของผู้ป่วย หลักของการฟื้นฟูยึดทรัพยากรในชุมชนเป็นตัวตั้ง ผู้ป่วยมีทักษะเดิมมีการเพิ่มทักษะใหม่ที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้ผู้ป่วยต้องมาเรียนรู้ทักษะเดิมคือการทอเสื่อ ทักษะใหม่ที่มีอยู่ในชุมชน คือ การตัดเย็บเสื้อผ้า ชุมชนร่วมกันปกป้องสิทธิ์ จัดหาที่อยู่อาศัย อาหารจากวัดมาให้ จัดเพื่อนบ้านมาดูแลเรื่องการกินยา และจ้างงานผู้ป่วยตามความต้องการของชุมชน ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับคืนสู่ชุมชนในสถานะสมาชิกได้อีกครั้ง สรุปผลการศึกษา การดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากชุมชนอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบการวางแผนการฟื้นฟู เพื่อวิเคราะห์ทรัพยากรและอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งต้องมีกระบวนการ วัฒนธรรม ประเพณี ที่ทำให้ชุมชนเปิดใจยอมรับผู้ป่วยในฐานะสมาชิกที่มีเกียรติคนหนึ่ง จึงจะทำให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างยั่งยืนมีการยอมรับเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ข้อเสนอแนะ ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและมีการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่อง

Keywords: ฟื้นฟูสรรมภาพทางจิตเวช, ผู้ป่วยจิตเภท, ชุมชนเพื่อชุมชน, ไร้บ้านไร้อาชีพ, กิจกรรมฟื้นฟูอาชีพ, จิตเวชชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, การสื่อสาร, ชุมชน, ทัศนคติ, พฤติกรรมก้าวร้าว

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000193

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: