ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิภา ชาญสวัสดิ์, ขนิษฐ์ วรรธนกานต์, ยงยศ กงแก้ว และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: นวัตกรรมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินขณะจำกัดพฤติกรรม.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่องสุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 218.

รายละเอียด / Details:

หน่วยบริการพยาบาลจิตเวชฉุกเฉิน มีความแตกต่างจากหน่วยงานบริการอื่นๆ ภายในโรงพยาบาลจิตเวช เนื่องจากสภาพผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว การจำกัดพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย อุปกรณ์การจำกัดพฤติกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญแต่ปัญหาที่พบก็คือผู้ป่วยร้อยละ 80 บาดเจ็บจากอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม จากปัญหาดังกล่าวงานบริการพยาบาลจิตเวชฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีธัญญา จึงได้ประดิษฐ์นวัตกรรมสำหรับจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยและได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการ ใช้กระบวนการ CQI ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนานวัตกรรมด้วยการใช้ PDCA โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) ป้องกันการบาดเจ็บของผู้ป่วยขณะจำกัดพฤติกรรม 2) พัฒนาอุปกรณ์การจำกัดพฤติกรรมให้เป็นที่ยอมรับในสังคม 3) ยกระดับมาตรฐานการพยาบาลจิตเวชสู่บริการตติยภูมิขั้นสูง ผลการศึกษา ได้นำนวัตกรรมมาทดลองใช้กับหน่วยงานต่างๆ ของโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่เป็นตึกอาสาสมัครทดลองใช้นวัตกรรม จำนวน 10 ตึก โดยตั้งชื่อนวัตกรรมให้สามารถเรียกขานกันสั้นๆ ว่า Wrist Band ER ผลการทดลอง พบว่าร้อยละ 80 ชื่นชอบกับรูปแบบและความนุ่มของผ้ารองที่สัมผัสบริเวณข้อมือข้อเท้าของผู้ป่วย ร้อยละ 50 ไม่ถนัดกับวิธีการใช้อุปกรณ์ กรณีผู้ป่วยมีพฤติกรรมรุนแรงไม่ร่วมมือจะใช้เวลานานกว่าอุปกรณ์แบบเก่า และร้อยละ 20 พบว่าอุปกรณ์ฉีกขาดชำรุด เนื่องจากผู้ป่วยมีพฤติกรรมรุนแรงขอให้เพิ่มความคงทนของอุปกรณ์ บทสรุปการเรียนรู้ ได้นวัตกรรม จำนวน 3 แบบ แบบที่ 1 ยึดติดกับเก้าอี้หรือเตียงนอน แบบที่ 2 คาดหน้าอก สำหรับผู้ป่วยนอนบนเตียง แบบที่ 3 ยึดติดกับสะโพก สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แผนการพัฒนา 1) ปรับแก้นวัตกรรมตามข้อเสนอแนะ นำมาทดลองใช้เพื่อศึกษาข้อจำกัดและหาแนวทางการพัฒนาต่อไป 2) ประสานกับหน่วยอาชีวะบำบัดเพื่อฝึกสอนผู้ป่วยตัดเย็บนวัตกรรม เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพของผู้ป่วยจิตเวชซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการสอน 3) จดทะเบียนสิทธิบัตรกำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารและประสานงานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนแผนการตลาด ผู้ดำเนินงานได้ส่งผลงานเข้าประกวอในเวทีต่างๆ จัดแสดงนิทรรศการ KM และสาธิตทักษะการดูแลผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงในงานประชุมวิชาการทางด้านจิตเวช รวมทั้งจัดตั้งทีมวิทยากรถ่ายทอดความรู้และทักษะเกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินแก่นักศึกษาพยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ปัจจุบันยอดการผลิตและจำหน่าย เฉลี่ย 30 คู่/เดือน (ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข)

Keywords: พฤติกรรมก้าวร้าว, ผู้ป่วยจิตเวช, การป้องกันการบาดเจ็บ, จำกัดพฤติกรรม, จิตเวชฉุกเฉิน, นวตกรรม, การพยาบาลจิตเวช, จิตเวชฉุกเฉิน, พฤติกรรมรุนแรง, มาตรฐานการพยาบาลจิตเวช, ทักษะการพยาบาล, wrist band ER

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา.

Code: 2007000195

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: