ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จริยา บุญเชิญ.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการใช้โปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคจิตจากสุรา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 153.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยโรคจิตจากสุราที่มีภาวะซึมเศร้ามักจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมายทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม แนวคิดในการใช้กลุ่มจิตบำบัดประคับประคองใช้ แนวคิดของยาลอม (Yalom, 1995) มีจุดมุ่งหมายเพื่อประคับประคองผู้ป่วยโรคจิตจากสุรา ให้ภาวะซึมเศร้าลดลง อยู่ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลางโดยสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ได้มาร่วมแสดงความรู้สึกอภิปรายในปัญหานั้น ซึ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันของสมาชิกในกลุ่ม และมีการดำเนินไปตามพัฒนาการของกลุ่ม มีเป้าหมาย และส่งผลให้สมาชิกเกิดการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และ พฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม เกิดความรู้สึกตระหนักในการมีคุณค่าของตนเอง ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยโรคจิตจากสุราที่มีภาวะซึมเศร้าได้รับการบำบัดด้วยโปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคอง แต่ละกระบวนการในโปรแกรมสามารถลดภาวะซึมเศร้าลงได้ รวมทั้งมีความสำนึกในคุณค่าของตนเองเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุรา และการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบระดับภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคจิตจากสุราก่อนและหลังการใช้โปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคอง วิธีการ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจากสุรา ที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 20 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษาคือ โปรแกรมกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคจิตจากสุรา ซึ่งผ่านการตรวจสอบเชิงเนื้อหา จากผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลการศึกษาได้แก่ แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของ Beck (1967) มีค่าความเที่ยง โดยหาสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของ ครอนบาค (Cronbach Alpha Coefficient) ได้ค่าความเที่ยง (Reliability) เท่ากับ 0.74 เครื่องมือกำกับการทดลอง ได้แก่ แบบประเมินความสำนึกในคุณค่าแห่งตน (Self Esteem Inventory) ของคูเปอร์สมิท (Coopersmith, 1981) ซึ่งหาค่าความเที่ยงโดยสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach Alpha coefficient) ได้ค่าความเที่ยง (Reliability) เท่ากับ 0.70 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิเคราะห์ความแปรปรวน โดยการทดสอบค่า t (Dependent t-test) ผลการศึกษา คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคจิตจากสุราของกลุ่มหลังการใช้กลุ่มจิตบำบัดประคับประคองลดลงกว่าการทดลอง ข้อเสนอแนะ ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ผลของการใช้กลุ่มจิตบำบัดประคับประคองสามารถ นำมาใช้ลดภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตจากสุราได้ ดังนั้นจึงควรมีการประยุกต์แนวทางการใช้กลุ่มจิตบำบัดประคับประคองมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตอื่นๆ ที่มีภาวะซึมเศร้า และผู้ปฏิบัติที่จะเป็นผู้บำบัดควรจะเป็นพยาบาลผู้ชำนาญการทางการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช พยาบาลเฉพาะทางในการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ที่ได้รับการฝึกฝนในการทำกลุ่มจิตบำบัดประคับประคองมาก่อน 2.ข้อเสนอแนะด้านการศึกษาวิจัย ควรมีการศึกษาที่เป็นรูปแบบการวิจัยที่สมบูรณ์ เช่น การศึกษาที่มีทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วย เพื่อสามารถวิเคราะห์และอ้างอิงสู่กลุ่มประชากรได้อย่างแท้จริง

Keywords: ซึมเศร้า, สุขภาพจิต, โรคจิตจากสุรา, โปรแกรมจิตบำบัด, กลุ่มบำบัดแบบประคับประคอง, ภาวะซึมเศร้า, สุรา, กลุ่มจิตบำบัด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา.

Code: 2007000221

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: