ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุกันยา สำราญพิศ.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัดในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 160.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การบาดเจ็บจากการผูกมัดส่งผลต่อตัวผู้ป่วย คือ อาจพิการหรือเสียชีวิต ผู้ปฏิบัติอาจต้องมีคดีความทางกฎหมายถูกฟ้องร้อง ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการขาดความเชื่อถือในความปลอดภัย ขาดความมั่นใจ ไม่มาใช้บริการก่อให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาว หอผู้ป่วยในจิตเวชมีโอกาสรับผู้ป่วยใหม่พฤติกรรมรุนแรงเข้ามาตลอด 24 ชั่วโมง และขณะอยู่ในโรงพยาบาลผู้ป่วยก็สามารถเกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ตลอดเวลาเช่นกัน การขจัดพฤติกรรมรุนแรงของผู้ป่วยมีหลายวิธีแต่มักไม่ได้ผลในระยะเวลาที่รวดเร็ว การผูกมัดผู้ป่วยเกิดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บได้มาก แต่เป็นความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ การนำแนวทางการบริหารความเสี่ยงมาใช้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บในผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัด จึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยวัตถุประสงค์ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ในผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัด ในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา วิธีการดำเนินการ การศึกษาครั้งนี้เป็นการทดลองแบบสองกลุ่ม วัดหลังทดลองการใช้แนวทางการบริหาร ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัดในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กลุ่มเป้าหมายได้แก่ พยาบาลจิตเวชที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยในสามัญหญิง จำนวน 10 คน ผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ได้รับการจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัด จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 15 คน และเป็นกลุ่มทดลอง 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย คู่มือแนวทางการบริหารความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัด แบบวัดการบาดเจ็บ แบบประเมินความคิดเห็นของพยาบาล แบบวัดความรู้ของพยาบาลเรื่องพฤติกรรมรุนแรงและการจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัด และแบบสังเกตและบันทึกการปฏิบัติตามแนวทางการบริหารความเสี่ยง เครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและหาค่าความเที่ยง วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบ t ผลการศึกษา การบาดเจ็บของผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัดหลังการใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงต่ำกว่าก่อนการใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญทางสถติตที่ระดับ .05

Keywords: การผูกมัด, การบริหารความเสี่ยง, พฤติกรรมรุนแรง, จำกัดพฤติกรรม, กิจกรรมพยาบาล, การพยาบาลจิตเวช, พยาบาลจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา.

Code: 2007000227

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: