ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: หทัยรัตน์ ดิษฐอั๊ง.

ชื่อเรื่อง/Title: การสอนการจัดการกับความโกรธเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 162.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยจิตเภทที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวชส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงในลักษณะก้าวร้าว อาละวาด ทำร้ายผู้อื่น ผู้ป่วยเหล่านี้โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์มีแนวทางการดูแลโดย จำแนกความรุนแรงเป็นวิกฤตฉุกเฉิน จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย อบรมบุคลากรให้สามารถจัดการกับความรุนแรงได้ แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้อีก ปัจจัยหนึ่งคือผู้ป่วยมาสามารถควบคุมตนเองได้ ดังนั้นหากสามารถฝึกให้ผู้ป่วยจัดการกับอารมณ์โกรธของตนเองในเบื้องต้นได้ จะช่วยป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ป่วยได้ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการสอนการจัดการกับความโกรธเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม –28 ธันวาคม 2549 ของเขต กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการวินิจฉัยจาก DSM IV มีประวัติและการแสดงออกของพฤติกรรมก้าวร้าว จำนวน 23 คน โดยใช้ แนวคิดทฤษฎีการสอนและการเรียนรู้ ของ Townsend (2003) ร่วมกับแนวคิดการจัดการกับอารมณ์โกธรของ Novaco (1975) และประยุกต์แผนการสอนการจัดการกับผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ของ Hamolia (2005) เครื่องมือ ที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบประเมินอาการทางจิตผู้ป่วยโรคจิตเภทฉบับภาษาไทย (PANSS-T) แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งประยุกต์มาจากแบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงของ กชพงศ์ สารการ (2542) ผลการศึกษา พบว่า การสอนการจัดการกับความโกรธเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ป่วยจิตเภท ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมความคิด (การรู้จักพฤติกรรมก้าวร้าว ผลกระทบจากการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และการรับรู้สัญญาณเตือนหรือตัวบ่งชี้กายก่อนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว) ขั้นการฝึกซ้อมทักษะในการป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว (การฝึกการหายใจ การขอออกจากสถานการณ์ การนับในใจ การพูดเพื่อแสดงความรู้สึก และการฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ) และขั้นการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น ซึ่งวิธีการที่ผู้ป่วยจิตเภทใช้ในการจัดการกับความโกรธมากที่สุด คือ นับในใจ จำนวน 22 คน (ร้อยละ 95.65) รองลงมา คือ หายใจเข้าออก จำนวน 16 คน (ร้อยละ 69.56) โดยผู้ป่วย ร้อยละ 100.00 ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเลย สรุปผลการศึกษา ผู้ป่วยจิตเภทสามารถสอนให้มีทักษะจัดการกับความโกธร โดยตนเองเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ ข้อเสนอแนะ ผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทุกคน ควรได้รับการสอนให้มีทักษะในการจัดการกับความโกธรโดยตนเอง เพื่อให้สามารถแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้น

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, พฤติกรรมก้าวร้าว, การจัดการกับความโกรธ, การจัดการอารมณ์โกรธ, ผู้ป่วยโรคจิต, ความโกรธ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

Code: 2007000229

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: