ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพรวัลย์ ร่มซ้าย, วัชนี หัตถพนม, สาคร บุปผาเฮ้า, ธีรยุทธ ยอดสง่า.

ชื่อเรื่อง/Title: ศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการที่มีต่อบริการบำบัดรักษา ณ คลินิกจิตเวช โรงพยาบาล เครือข่ายของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 166.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ โครงการพัฒนาระบบการบำบัดรักษา ในโรงพยาบาลเครือข่ายดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของการให้บริการ คือ การตรวจรักษาผู้ป่วยนอกจิตเวช ณ โรงพยาบาลชุมชนและการให้คำปรึกษา เพื่อผู้ป่วยจิตเวชและญาติสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาลจิตเวช ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องลดอาการกำเริบซ้ำ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้รับบริการที่มีต่อบริการบำบัดรักษา ณ คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลเครือข่าย วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย ศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยจิตเวชหรือญาติผู้ป่วย ซึ่งมารับบริการ ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ขณะให้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน ประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการ 3 ด้าน คือ ความพึงพอใจในบริการใกล้บ้าน ด้านบุคลากร (แพทย์ เจ้าหน้าที่) และด้านระบบบริการ รวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นและนำไปทดสอบกับผู้รับบริการ จำนวน 30 คน เพื่อศึกษาความเหมาะสมของภาษาและได้ค่าความเชื่อมั่น 0.85 ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2550 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา ผู้ตอบส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วย 70.6% เพศหญิง 51.2 % อายุอยู่ในช่วง 31-40 ปี 29.9% และ 51-60 ปี 19.5% สถานภาพสมรสคู่ 50.3% จบประถมศึกษา 73.0% อาชีพเกษตรกรรม 62.2% ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อบริการในระดับมากที่สุดทั้ง 3 ด้าน ด้านความพึงพอใจในบริการใกล้บ้าน 3 ลำดับแรก คือ พึงพอใจในการมารับบริการตรวจรักษาโรคทางจิตใจ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน 86.3% สะดวกสบายในการมาตรวจรักษา ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน 84.9% ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการ 83.1% ด้านความพึงพอใจในบุคลากร 3 ลำดับแรก คือ แพทย์ตรวจรักษาด้วยความกระตือรือร้น ใส่ใจบริการ 84.0% แพทย์ตรวจรักษาโดยใช้วาจาสุภาพอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส 82.0% เจ้าหน้า (พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์) พูดจาไพเราะมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส 80.2% ด้านความพึงพอใจในระบบบริการ 3 ลำดับแรก คือ มีการจัดลำดับก่อน หลังพบแพทย์อย่างเป็นระบบ 68.6% มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการให้บริการผู้ป่วย 68.3% ขั้นตอนในการให้บริการไม่ยุ่งยากซับซ้อน 66.6% สรุปและข้อเสนอแนะ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อบริการ และเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ต้องการให้มีการจัดบริการอย่างต่อเนื่อง และขยายผลให้ครอบคลุมทั่วทุกอำเภอในจังหวัดขอนแก่นรวมทั้งขยายผลสู่จังหวัดอื่นในโอกาสต่อไป

Keywords: ความพึงพอใจ, ผู้รับบริการ, การบำบัดรักษา, ผู้ป่วยจิตเวช, เครือข่าย, บริการจิตเวช, บริการสุขภาพจิต,โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน, คลินิกจิตเวช, โรงพยาบาลเครือข่าย, ระบบการบำบัดรักษาทางจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000233

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: