ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุบิน สมีน้อย.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการให้คำปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดการพิจารณาเหตุผล-อารมณ์ และพฤติกรรม เพื่อพัฒนาความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยนอกที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 168.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ก่อนและหลังการให้คำปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดการพิจารณาเหตุผล-อารมณ์ และพฤติกรรม ของผู้ป่วยนอกที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ วิธีการศึกษา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการให้คำปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดการพิจารณาเหตุผล-อารมณ์ และพฤติกรรม เพื่อพัฒนาความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของผู้ป่วยนอก ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2550 จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการให้การปรึกษารายบุคคลตามแนวคิดทฤษฎี การพิจารณาเหตุผล-อารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งผู้วิจัยจัดทำขึ้นเองประกอบด้วย 5 ครั้งๆ ละ 60-90 นาที และแบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ที่พัฒนาโดย ชนิดา สุวรรณศรี ผู้วิจัยได้ทดสอบค่าความเชื่อมั่น ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.913 การวิเคราะห์ข้อมูลโดย การทดสอบค่าคะแนนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ระหว่างก่อนและหลังการทดลองด้วยสถิติ Wilcox on Matched-Pairs Signed Ranks Test และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่ได้รับการให้คำปรึกษารายบุคคลตามแนวคิด การพิจารณาเหตุผล-อารมณ์ และพฤติกรรม มีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองก่อนการทดลอง เท่ากับ 22.50 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 8.605 และหลังการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง สูงขึ้นเป็น 30.60 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 8.980 เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนก่อนและหลังการทดลอง พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้และวิเคราะห์ตนเองตามกระบวนการ ABCDE เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสามารถยอมรับตนเองได้และนำไปสู่การพัฒนาความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้สูงขึ้นได้ ข้อเสนอแนะ ควรนำโปรแกรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่มีความรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า เพราะเป็นโปรแกรมที่เน้นให้ผู้ป่วยยอมรับและเข้าใจตนเอง และผู้ที่จะนำโปรแกรมนี้ไปใช้ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด เทคนิค วิธีการและทักษะในการให้คำปรึกษาให้เข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อให้การให้ผลของการให้คำปรึกษาประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Keywords: การฆ่าตัวตาย, การให้คำปรึกษา, อารมณ์, พฤติกรรม, ความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, ให้การปรึกษารายบุคคล, คุณค่าในตัวเอง, โปรแกรมให้การปรึกษา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000235

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: