ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จินตนา แสงจันทร์.

ชื่อเรื่อง/Title: แนวทางลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 53.

รายละเอียด / Details:

ปี 2548 พบประชากรน่านดื่มสุรามากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เยาวชนดื่มร้อยละ 40.81 ข้อมูลสำรวจ รพ.เชียงกลางพบเด็กมัธยมปลายเชียงกลาง ดื่มร้อยละ 40 การดื่มสุรานอกจากจะบั่นทอนสุขภาพและนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ยังมีข้อมูลระบุว่าเด็กที่ดื่มอายุน้อยกว่า 13 ปี มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนโต ทาง รพ.เชียงกลางร่วมกับทุกภาคส่วนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในกลุ่มเยาวชนและร้านค้าที่จำหน่าย สอดคล้องกับนโยบาย พรบ.คุ้มครองเด็ก ยังพบว่ามีการดื่มสุราของเด็กและเยาวชนมากขึ้น จึงได้มีการทำการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาพฤติกรรมวิถีการดื่ม สาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดื่ม ผลและนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการลดการดื่ม รวมทั้งให้แนวทางลดการดื่มในกลุ่มเด็กและเยาวชน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก 22 ราย สนทนากลุ่ม 63 ราย ได้แก่ เด็ก อายุน้อยกว่า 18 ปี ผู้ปกครอง ภาครัฐผู้นำชุมชน และสัมภาษณ์ผู้บริหาร 6 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก (Content Analysis) ตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation) ผลการศึกษาพบว่า เด็กมีความรู้เรื่องของผลของการดื่มสุราต่อสุขภาพแต่ไม่ตระหนักต่อโทษภัย ดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อย มีการดื่มมากขึ้นโดยเฉพาะเพศหญิง ดื่มอย่างเปิดเผย ซึ่งชนิด ปริมาณ ความถี่ขึ้นอยู่กับโอกาสและทุนทรัพย์ สุรากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประเพณีต่างๆ มากขึ้น จากการศึกษาเชิงปริมาณพบว่าภาพรวมการดื่มของเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปี พบการดื่มน้อยกว่า 4 ครั้งต่อเดือน ร้อยละ 24 และดื่มมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือนร้อยละ 2 เริ่มดื่มครั้งแรกเมื่ออายุ 12-15 ปี พบมากที่สุดร้อยละ 46 สาเหตุการดื่มในครั้งแรกและปัจจุบันเกิดจากอยากดื่มเอง อยากลอง คลายเหงา พบมากที่สุดร้อยละ 66 และ 68.8 ตามลำดับ คนที่ชวนดื่มพบมากที่สุดคือเพื่อนร้อยละ 75.3 โอกาสที่ใช้ดื่มมากที่สุดในเทศกาลต่างๆ ร้อยละ 60.8 สถานที่ดื่มพบมากที่สุดคือบ้านเพื่อนร้อยละ 52.6 ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมดื่มบ่อยคือเบียร์ พบร้อยละ 51.5 รองลงมาคือเหล้าแดงร้อยละ 42.3 สาเหตุและปัจจัยในการดื่มเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบจากผู้ใหญ่ สภาพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ความเหงา หาซื้อง่าย ราคาถูกและเป็นค่านิยมตามแฟชั่นวัยรุ่น แนวทางลดการดื่มในมุมของเด็ก เห็นว่าผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างในการเลิก และมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ในมุมมองของผู้ใหญ่เห็นว่า ควรมีการบังคับการใช้กฎหมาย มีมาตรการลงโทษ ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 15 ปี ต้องได้รับความร่วมมือในทุกภาคส่วน สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่โดยปรับเปลี่ยนบริบทให้คนในสังคมลดการดื่ม รวมทั้งการเป็นแบบอย่างของสถาบันครอบครัว

Keywords: แอลกอฮอล์, เด็กและเยาวชน, พฤติกรรม, สุขภาพ, แนวทางลดการดื่ม, เยาวชน, สารเสพติด, ยาเสพติด, สุรา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลเชียงกลาง จังหวัดน่าน.

Code: 2007000238

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: