ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กฤษณา ศิริวิบุลยกิติ, กันตินันท์ บุญรักษา, อภิสรา รอดพิทักษ์.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนากระบวนการคิดของผู้ต้องขังชายโดยการให้คำปรึกษากลุ่มตามแนวทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 62.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของผู้ต้องขังชาย โดยการให้คำปรึกษากลุ่มตามแนวทฤษฎีพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม ดำเนินการะหว่างมิถุนายน 2549-มิถุนายน 2550 กลุ่มตัวอย่างคือผู้ต้องขังชายในโครงการชุมชนบำบัดของเรือนจำกลางจังหวัดลพบุรี อายุ 18-26 ปี จำนวน 46 คน ที่สมัครใจและสามารถเข้าร่วมโปรแกรมการให้คำปรึกษาได้ตลอดโครงการซึ่งดำเนินการรวม 9 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2-3 วัน ผลของการเข้าร่วมกลุ่มประเมินโดยใช้แบบสอบถามวัดคุณค่าแห่งตนของผู้ต้องขังชายจำนวน 16 ข้อ ร่วมกับการสังเกตการมีส่วนร่วมและพฤติกรรมขณะเข้าร่วมโปรแกรม และการสัมภาษณ์ ตลอดจนใช้แบบสอบถาม ความคิดเห็น ความรู้สึกระหว่าง และภายหลังการให้คำปรึกษากลุ่ม ผลการศึกษาพบว่าผู้ต้องขังชายส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.1) มีอายุ 20-25 ปี ต้องโทษครั้งแรกร้อยละ 73.9 ส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 21.8 และ 17.4) ต้องโทษด้วยคดียาบ้า และทำร้ายร่างกาย ผลการประเมินคุณค่าแห่งตน พบว่าคะแนนเฉลี่ยของผู้ต้องขังภายหลังเข้าร่วมโปรแกรมทันที (10.26) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของผู้ต้องขังก่อนการให้คำปรึกษา (7.39) และเมื่อวัดภายหลังการให้คำปรึกษา 6 เดือน พบว่า คะแนนเฉลี่ยคุณค่าแห่งตนของผู้ต้องขังยังไม่พ้นโทษ จำนวน 9 คน เท่ากับ 14.79 จากการสัมภาษณ์ และตอบแบบสอบถามรายบุคคลพบว่ากลุ่มตัวอย่างระบุว่า มีความสุขมากขึ้น กล้าแสดงออก สามารถเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ต้องขังด้วยกัน ตลอดจนมีการวางแผนอนาคตของตน ส่วนข้อมูลจากผู้ดูแลผู้ต้องขังพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เหลืออยู่สามารถทำงานเป็นกลุ่มช่วยเหลือผู้อื่นและมีเหตุผลมากขึ้น สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่พ้นโทษแล้วผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พบว่ามีความสุขดี และรู้สึกว่าตนเองทำตัวดีขึ้น ข้อเสนอแนะจากการวิจัย 1) ควรนำโปรแกรมการให้คำปรึกษาไปใช้ในเรือนจำให้กับผู้ต้องขังกลุ่มอื่น 2) ควรมีการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่หรือผู้คุมในเรือนจำให้สามารถดำเนินการตามโปรแกรม 3) ควรมีการศึกษาติดตามผลของโปรแกรมในระยะยาวเพื่อติดตามว่าโปรแกรมจะมีประสิทธิภาพนานเท่าใด 4) ควรมีการศึกษาตัวแปรผลลัพธ์อื่น อาทิเช่น การกระทำผิดซ้ำ 5) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของโปรแกรมควรศึกษาโดยใช้การวิจัยเชิงทดลองและมีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง

Keywords: กระบวนการคิด, ผู้ต้องขังชาย, พฤติกรรม, อารมณ์, การให้คำปรึกษา, ชุมชนบำบัด, เรือนจำ, สุขภาพจิต,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี.

Code: 2007000239

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: