ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุริยา ชิณวงค์, อนงค์ลักษณ์ ปราศจาก.

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของประชาชนในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยบ้านกุง ตำบลบ้านกุง กิ่งอำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 71.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของประชาชนในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยบ้านกุง ตำบลกุง กิงอำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยบ้านกุงที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปี ขึ้นไป จำนวน 356 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square และ Fisher's exact test ผลการศึกษาพบ มีอัตราความชุกของภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 14.6 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงเป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 19 ปี เป็นผู้ที่มีสถานภาพหม้าย/หย่า/ร้าง เป็นผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแบบขัดแย้งกันเป็นประจำและมีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างแบบขัดแย้งกันบ้างบางครั้ง และพบว่า สถานภาพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนเมื่อเทียบกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value=0.001, 0.049, 0.023 และ ‹0.001 ตามลำดับ) และผลการศึกษาในด้านความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่า มีอัตราความชุกของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 11.8 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 19 ปี เป็นผู้ที่มีสถานภาพหม้าย/หย่า/ร้าง เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เป็นผู้ที่มีอาชีพว่างงาน เป็นผู้ทึ่มีปัญหาสุขภาพ เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและกับบุคคลรอบข้างแบบขัดแย้งกันเป็นประจำ และพบว่าสถานภาพ การศึกษา อาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลภายในครอบครัวและความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง มีสัมพันธกับความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value=0.004, 0.010, 0.008, <0.001, 0.002 ตามลำดับ) จากการศึกษาพบว่ามีอัตราความชุกของภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 14.6 และมีอัตราความชุกของความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 11.8 ซึ่งส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและบุคคลรอบข้างที่มีความขัดแย้งกัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรจัดอบรมเกี่ยวกับทักษะการใช้ชีวิตร่วมกันและการจัดการกับความขัดแย้ง รวมทั้งมีแผนป้องกันการฆ่าตัวตายโดยชุมชนมีส่วนร่วม

Keywords: การฆ่าตัวตาย, ภาวะซึมเศร้า, สุขภาพจิต, ความเสี่ยง, สถานีอนามัยบ้านกุง, อัตราการฆ่าตัวตาย, ความชุก, ซึมเศร้า, เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถานีอนามัยบ้านกุง กิ่งอำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ.

Code: 2007000241

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: