ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นารีรัตน์ โอภาษี, ดวงรัตน์ แผ้วพลสง.

ชื่อเรื่อง/Title: เทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ด้วยหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 72.

รายละเอียด / Details:

บุหรี่เป็นสารเสพติดที่นิยมใช้กันมากที่สุด หาซื้อได้ง่าย มีการขายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เป็นยาเสพติดที่สังคมให้การยอมรับ เนื่องจากบุหรี่มีพิษภัยทำให้เกิดโรคต่อผู้สูบและผู้ไม่สูบบุหรี่หลายประการและรุนแรงเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เมื่อเสพติดแล้วยากแก่การที่จะเลิก จึงได้มีการศึกษาเรื่องเทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ด้วยหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ คือ ธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี ในกลุ่มข้าราชการที่สมัครใจและผู้บังคับบัญชาส่งมาร่วมโครงการ จำนวน 50 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหลักธรรมสัปปุริสธรรม 7 ประการ มาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการในจังหวัดสุรินทร์เป็นเขตปลอดบุหรี่ปลอดโรค และปลอดภัยจากการทำงาน วิธีการศึกษานำหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการ มาเป็นเทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วย ศรัทธา การกระตุ้นให้เกิดความพึงพอใจในการเลิกสูบบุหรี่ หิริ กระตุ้นให้เกิดความละอายต่อการสูบบุหรี่ โอตตัปปะ กระตุ้นให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมายและสุขภาพ พหุสุตตะ กระตุ้นให้เกิดการฟังบ่อยๆ เกี่ยวกับโทษภัยของการสูบบุหรี่ วิริยะ กระตุ้นให้เกิดความพยายามเลิกสูบบุหรี่ โดยนำบุคคลที่เลิกได้สำเร็จมาเป็นตัวอย่าง สติ กระตุ้นให้เกิดการระลึกนึกเสมอว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี ปัญญา กระตุ้นให้เกิดความคิดเห็นที่ถูกต้องต่อการสูบบุหรี่โดยนำหลักสัปปุริสธรรมทั้ง 7 ประการ นำเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และเปลี่ยนพฤติกรรมต่อการเลิกสูบบุหรี่ ผลการศึกษา แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1) พฤติกรรมระดับต้น คือ มีเจตนาลดการสูบบุหรี่ลงเหลือวันละ 1-3 มวน เท่านั้น แต่พยายามเลิกต่อไป พบ 17 คน คิดเป็นร้อยละ 34.2 2) พฤติกรรมระดับกลาง คือมีพลังจิตมุ่งมั่นละเว้นการสูบบหุรี่ได้บางครั้ง โดยการห้ามใจมิให้สูบบุหรี่เป็นบางวัน แต่พยายามเลิกต่อไป พบว่า มีจำนวน 2 คน หรือร้อยละ 4 3) พฤติกรรมระดับสูง คือมีพลังปัญญาเลิกเด็ดขาด เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดตลอดไป พบว่ามีจำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 62 นับว่าเป็นเทคนิคที่ได้รับผลดีอย่างน่าพอใจ จึงสรุปได้ว่าการนำเอาหลักธรรมสัปปุริสธรรม 7 ประการ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี มาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ ได้ผลอย่างเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือบุคคลที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ

Keywords: บุหรี่, การเปลี่ยนพฤติกรรม, การเลิกสูบบุหรี่, เทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรม, หลักธรรม, สัปปุริสธรรม 7 ประการ , เลิกบุหรี่, สารเสพติด, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสุรินทร์.

Code: 2007000242

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: