ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ยุทธพงษ์ ศรีมงคล และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการบริการการแพทย์แผนไทยแบบเดิมและแบบผสมผสาน ต่อความตึงเครียดด้านร่างกาย จิตใจ และความพึงพอใจของผู้รับบริการในโรงพยาบาลวังน้ำเย็น.

แหล่งที่มา/Source: วารสารวิชาการสาธารณสุข. ปีที่ 16, ฉบับที่ 3, พฤษภาคม-มิถุนายน 2550, หน้า 456.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานำร่องครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดความตึงเครียดด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความพึงพอใจของผู้รับบริการแบบการแพทย์แผนไทยแบบเดิม และแบบผสมผสานกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้รับบริการที่มีอาการตึงเครียด ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก ฝ่ายการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น ในช่วงมิถุนายน-กันยายน พ.ศ. 2547 แบบประเมินที่ใช้ประกอบด้วย แบบประเมินความตึงเครียดด้านร่างกาย ที่เป็นแบบประเมินความปวดด้วยตาเห็น (visual analogues scale VAS) แบบประเมินความตึงเครียดด้านจิตใจที่ประยุกต์มาจากแบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต และแบบประเมินความพึงพอใจที่ผู้วิจัยสร้างเองตามแนวคิดของอเดย์และแอนเดอร์เซน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test และ paired t-test) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับบริการรูปแบบการแพทย์แผนไทยและแบบผสมผสาน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 84.4 และ 87.9) มีอายุระหว่าง 56-60 ปี (ร้อยละ 34.3 และ 33.3) มีอาการตึงเครียด 1-5 วัน (ร้อยละ 90.6 และ 97) กลุ่มตัวอย่างมีอาการตึงเครียดด้านร่างกาย และจิตใจลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.01) เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนได้รับบริการ แต่การลดความตึงเครียดด้านร่างกาย และจิตใจของทั้ง 2 รูปแบบไม่แตกต่างกัน และกลุ่มที่ได้รับบริการรูปแบบการแพทย์แผนไทยแบบผสมผสานมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจ มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับบริการรูปแบบการแพทย์แผนไทยแบบเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01)

Keywords: แพทย์แผนไทย, การแพทย์แผนไทยแบบเดิม, การแพทย์แผนไทยแบบผสมผสาน, อาการตึงเครียด, ความพึงพอใจ, เครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลวังน้ำเย็น สระแก้ว.

Code: 2007000247

ISSN/ISBN: 0858-4923

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อวารสารวิชาการ

Download: