ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พนมวรรณ คาดพันโน และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรสาธารณสุขต่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จังหวัดยโสธร.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 60.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในการส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวานจังหวัดยโสธร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการปรับทัศนคติของบุคลากรในโครงการ โดยการสัมภาษณ์ความคิดเห็นต่อตนเองและการนำความคิดนั้นมาปรับบริการ ผลการศึกษามีดังนี้ ทัศนคติพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ 2 ส่วน ได้แก่ การเห็นทุกข์ของผู้ป่วยและมองกลับเข้ามาเห็นจุดอ่อนของตนเอง หรือระบบบริการที่ไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้เกิดจากเจ้าหน้าที่ได้ศึกษาชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานอย่างน้อยคนละ 1 ราย ผ่านการชี้ประเด็นการเรียนรู้จากอาจารย์ที่ปรึกษาโดยใช้วัตถุดิบจากข้อมูลของผู้ป่วย จนเห็นชีวิตจริงของผู้ป่วยที่ถูกจำกัดด้วยบริบทชีวิต บางรายสภาพร่างกายพิการ ชีวิตมีความลำบากมาก ต้องอาศัยคนอื่นช่วยเหลือ การไปทำแผลหรือรับยาตามนัดเป็นไปอย่างยากลำบาก ความจริงนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ได้มองย้อนกลับมาเห็นจุดอ่อนของตนเองหลายส่วน เจ้าหน้าที่สะท้อนว่าเดิมตนเองมองผู้ป่วยเบาหวานเพียงแค่ระดับน้ำตาลและอาการของโรคเท่านั้น จึงทำให้ละเลยความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิตซึ่งผู้ป่วยให้ความสำคัญมากกว่าโรคเบาหวาน มุมมองเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมบริการของเจ้าหน้าที่คือให้บริการทุกคนเหมือนกันหมดขาดการแยกแยะ โดยยึดกฎระเบียบของสถานบริการอย่างเคร่งครัด หากผู้ป่วยผิดนัด หรือต่อรองจะถูกตำหนิ การให้คำแนะนำเหล่านั้นได้ นอกจากนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลป่าติ้วที่เคยผ่านการปรับทัศนคติมาแล้วได้ทดลองบันทึกเทปการสนทนากับผู้ป่วยในคลินิกเบาหวานกลับพบว่าสาระการพูดคุยยังเน้นที่ระดับน้ำตาลและอาการของโรคแทนที่จะสนใจชีวิตหรือความทุกข์ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าทัศนคติเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้หากขาดความลึกซึ้ง การปรับทัศนคติจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง การปรับบริการ เห็นการปรับบริการ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการปรับบริการที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเห็นความจริงของผู้ป่วย โดยการลดการตำหนิ มีการยืดหยุ่นในการให้บริการ บางรายที่เห็นว่าผู้ป่วยมีความลำบากในการเดินทางมาสถานบริการเจ้าหน้าที่จะออกไปให้บริการที่บ้านของผู้ป่วยด้วยความเต็มใจ เช่น ทำแผล เจาะเลือด ส่วนที่ 2 เป็นการปรับการสื่อสารกับผู้ป่วย ประเมินจากการถอดเทปสนทนาครั้งที่ 2 หลังจากเจ้าหน้าที่พบจุดอ่อนของการสื่อสารโดยการฟังเทปที่ตนเองสนทนากับผู้ป่วยขณะให้บริการ ซึ่งการสนทนาครั้งที่ 2 นี้พบว่ารูปแบบและสาระการสื่อสารเปลี่ยนไปจากเดิม ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าการปรับบริการเป็นผลมาจากการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ แต่ยังเป็นบริการเชิงรับยังไม่เห็นบริการที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย

Keywords: โรคเบาหวาน, ทัศนคติ, การพัฒนาศักยภาพ, พฤติกรรมบริการ, การปรับเปลี่ยนทัศนคติ, บุคลากรสาธารณสุข, คิดเชิงบวก, ลดการตำหนิ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร.

Code: 2007000252

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: