ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมเกียรติ ชำนุรักษ์.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบเฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายโดยชุมชนมีส่วนร่วม จังหวัดนครสวรรค์.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 75.

รายละเอียด / Details:

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นผลมาจากภาวะเครียด ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกลายเป็นโรคซึมเศร้า และถ้าไม่มีใครคอยดูแลช่วยเหลือหรือไม่รับการรักษาที่ถูกต้อง สุดท้ายอาจจะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย การเฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย และเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ภาวะซึมเศร้าและผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ จังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 และจากการประเมินกิจกรรมเฝ้าระวังและติดตามปัญหาการฆ่าตัวตาย เมื่อ พ.ศ. 2548 พบว่า ความครอบคลุมและคุณภาพการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพเท่าที่ควร การดำเนินการเฝ้าระวังโดยชุมชนมีส่วนร่วมจึงมีความสำคัญยิ่ง การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบเฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายโดยชุมชนมีส่วนในการเฝ้าระวัง เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 วิเคราะห์และพัฒนาเครื่องมือสำหรับการเฝ้าระวังด้วยนวัตกรรมและกระบวนการจัดการความรู้ เพื่อกระตุ้นการดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวังให้เข้มแข็ง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง 5 อำเภอ ได้แก่ เก้าเลี้ยว ตากฟ้า ตาคลี โกรกพระ และไพศาลี ระยะที่ 2 นำเครื่องมือที่พัฒนาได้ไปดำเนินการเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง 15 ตำบล ทั้ง 5 อำเภอดังกล่าว ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพและพลังความสามารถของแกนนำชุมชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแกนนำด้านสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการเฝ้าระวัง รวมทั้งมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้กรอบแผนที่ปฏิบัติงานของโครงการประเมินผลลัพธ์ คือการมีส่วนร่วมของแกนนำชุมชน และประเมินผลกระทบ ได้แก่ ผลการเฝ้าระวัง และอัตราการฆ่าตัวตายที่ลดลง เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้วยศักยภาพและความร่วมมือของแกนนำชุมชน สามารถดำเนินการเฝ้าระวังโดยใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้น สามารถคัดกรอง ประเมิน และติดตามให้การดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงได้ดีเกินคาด โดยไม่มีการฆ่าตัวตายในประชากรกลุ่มที่ได้รับการเฝ้าระวัง ซึ่งส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่ดำเนินการเฝ้าระวังลดลงเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา การสนับสนุนที่ดีเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนารูปแบบเฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ในลักษณะความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยอาศัยองค์ความรู้และดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานของโครงการได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพนั้น จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการดำเนินการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย บรรจุเป็นแผนงาน โครงการเฝ้าระวังเข้าในแผนท้องถิ่น และมีการจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

Keywords: ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, การพัฒนารูปแบบ, โรคซึมเศร้า, ภาวะเครียด, เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย, เฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์.

Code: 2007000254

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: