ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กิตติภัทร อ่างบุญตา.

ชื่อเรื่อง/Title: การดูแลรักษาสุขภาพทางจิต โดยหมอสู่ขวัญในจังหวัดนครราชสีมา.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 78.

รายละเอียด / Details:

บทนำ สภาพสังคมไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ นานัปการ ทำให้ผลโดยตรงต่อสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านจิตใจซึ่งเป็น ปัญหาที่มีความซับซ้อนจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพองค์รวมได้ สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพทางจิตของคนไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังเช่น หมอสู่ขวัญ ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านภาคอีสานประเภทหนึ่งที่คอยดูแลรักษาสุขภาพทางจิตของประชาชนทั้งในยามที่เกิดเหตุการณ์ที่ดีและไม่ดีในชีวิต การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดูแลรักษาสุขภาพทางจิต โดยหมอสู่ขวัญในจังหวัดนครราชสีมา การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ ทำการศึกษากับหมอสู่ขวัญทั้ง 14 คน โดยได้ศึกษาแนวคิดแบบแผน การถ่ายทอดความรู้และวิธีการดูแลรักษาสุขภาพทางจิต โดยวิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง การสนทนากลุ่มตรวจสอบข้อมูลโดยวิธีตรวจสอบแบบสามเส้า ซึ่งเป็นการตรวจสอบในความแตกต่างของ บุคคล เวลา สถานที่ แล้วนำมาวิเคราะห์ถึงความสอดคล้อง ตามชนิดของข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูล จากการศึกษาพบว่า การดูแลรักษาสุขภาพทางจิตโดยหมอสู่ขวัญ มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ รูปแบบ หน้าที่ และกระบวนการ โดยมีรูปแบบของการใช้พิธีกรรมเป็นวิธีการดูแลรักษาสุขภาพทางจิตซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เพราะชาวบ้านเชื่อว่า ขวัญเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับทุกคนและเป็นศูนย์รวมของชีวิต โดยมีหมอสู่ขวัญเป็นผู้ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมการสู่ขวัญตามกระบวนการดูแลรักษาสุขภาพทางจิตให้กับประชาชน หมอสู่ขวัญ เป็นผู้ดูแลรักษาสุขภาพทางจิตให้กับประชาชนทั้งในยามสุขและยามทุกข์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตและเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมการแพทย์พื้นบ้านภาคอีสานที่เกิดจากภูมิปัญญา และรู้จักใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวจะช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมของการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของคนในชุมชนให้ดำรงอยู่สืบไป การแพทย์พื้นบ้านภาคอีสานทุกประเภท เป็นความดีงามของวัฒนธรรมในการพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพของคนในชุมชน ดังนั้น ควรหาแนวทางในการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์ โดยต้องศึกษาให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของความดีงามแล้วนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดความสุขสมบูรณ์ของการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน

Keywords: สุขภาพจิต, หมอสู่ขวัญ, แพทย์พื้นบ้าน, วัฒนธรรม, พิธีกรรม, การแพทย์พื้นบ้าน, อีสาน, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, วัฒนธรรมท้องถิ่น, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา.

Code: 2007000255

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: