ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพัฒนา สุขสว่าง, ศิริลักษณ์ สว่างวงศ์สิน.

ชื่อเรื่อง/Title: ปฏิกริยาทางจิตใจและการจัดการปัญหาวิกฤติทางจิตใจในผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์อุทกภัย โคลนถล่ม จังหวัดอุตรดิตถ์.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 107.

รายละเอียด / Details:

เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น การศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในผู้ประสบภัยพิบัติ และการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น จะสามารถนำมาวางแผนการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจของประชาชนจากสถานการณ์ภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตของผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์อุทกภัย โคลนถล่ม จังหวัดอุตรดิตถ์ และการใช้วิธีการแก้ปัญหา (coping methods) เพื่อจัดการปัญหาวิกฤตทางจิตใจที่เกิดขึ้นในผู้ประสบภัยพิบัติ วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และสนทนากลุ่ม ในประชากรเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ กรณีน้ำป่า โคลนถล่มจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2549 วิเคราะห์ผลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) สำหรับการศึกษากรณีน้ำป่า โคลนถล่มจังหวัดอุตรดิตถ์ครั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมสัมภาษณ์เชิงลึก มีจำนวน 10 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 6 คน เข้าร่วมสนทนากลุ่มจำนวน 8 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 4 คน ทั้ง 2 กลุ่มมีอายุเฉลี่ย 30-40 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไป เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และโคลนถล่ม มีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตจำนวน 5 ราย ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จำนวน 6 ราย กลุ่มตัวอย่างทุกรายสูญเสียทรัพย์สิน และบ้านเรือน สถานที่ดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม ณ วัดศรีอุทุมพร อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และโรงเรียนบ้านน้ำต๊ะ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ผลการศึกษาพบว่า ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตของผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์อุทกภัย โคลนถล่ม จังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านอารมณ์ ความรู้สึก รู้สึกท้อใจ ท้อแท้ หาทางออกไม่ได้ รู้สึกสิ้นหวัง กังวล เกรงว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีก 2) ด้านความคิด คิดถึงเหตุการณ์หรือภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ 3) ด้านร่างกาย อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงมีปัญหาด้านการนอน เช่น หลับยาก นอนไม่หลับ 4) ด้านพฤติกรรม ระแวดระวัง ไม่ไว้ใจสิ่งแวดล้อมแยกตัวเอง ไม่อยากพูดคุยกับใคร บางรายเครียดจนกระทั่งต้องพึ่งพายานอนหลับ หรือสุรา วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางจิตใจที่เกิดขึ้น ได้แก่ การหาที่พึ่งทางใจ เช่น กำลังใจจากคนในครอบครัว การใช้ศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น การระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย การไหว้พระ สวดมนต์ การเชื่อว่าเป็นเรื่องของกรรม การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และกำลังใจจากบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ทำให้ผู้ประสบภัยมีกำลังใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ได้องค์ความรู้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ผู้ประสบภัยพิบัติต่อไป

Keywords: สุขภาพจิต, ผู้ประสบภัยพิบัติ, การจัดการปัญหาวิกฤติทางใจ, อุทกภัย โคลนถล่ม, ปัญหาสุขภาพจิต, เครียด, นอนไม่หลับ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ศูนย์เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต.

Code: 2007000257

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: