ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภัทรา ฤชุวรารักษ์, อติพร นามบุดดี, ธิรากร มมณีรัตน์, ภัทราภรณ์ กาบกลาง.

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบการให้บริการคลินิกออทิสติก โรงพยาบาลขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 249.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนารูปแบบการให้บริการคลินิกออทิสติกโรงพยาบาลขอนแก่น ใช้แนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย วิเคราะห์ปัญหาวางแผนแนวทางพัฒนา ทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด สะท้อนการปฏิบัติ และปรับปรุงแก้ไข จนได้แนวทางปฏิบัติที่ลงตัวเหมาะสม และประเมินผลการพัฒนาด้านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการและของผู้ปฏิบัติงาน ดำเนินการศึกษาระหว่างตุลาคม 2548-มีนาคม 2550 กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบจำเพาะเจาะจง ได้แก่ เด็กออทิสติกที่มารับบริการระหว่างมกราคม 2549 ถึงมีนาคม 2550 จำนวน 20 คน และทีมสหวิชาชีพที่ดูแลเด็กออทิสติก จำนวน 22 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แนวคำถามในการสนทนากลุ่มผู้ให้บริการ แนวคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกภาคสนาม และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติเชิงพรรณนา ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนารูปแบบการให้บริการคลินิกออทิสติก ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลง 4 ระยะ คือ 1) ระยะเข้าใจสภาพปัญหาและร่วมกันหารูปแบบใหม่ เป็นระยะรวมตัวกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุ หาแนวทางแก้ไขโดยร่วมกันหารูปแบบใหม่ 2) ระยะเผชิญปัญหาเมื่อเริ่มปฏิบัติ เป็นระยะนำรูปแบบชั่วคราวลงไปปฏิบัติครั้งแรกและพบปัญหาที่ต้องปรับแก้ 3) ระยะแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทใหม่ เป็นระยะที่มีการปฏิบัติบทบาทใหม่ พบปัญหา แก้ไขโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 4) ระยะพึงพอใจในบทบาท เป็นระยะที่ผู้ร่วมวิจัยปฏิบัติบทบาทได้ดีขึ้น รับรู้ผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้ใช้บริการ โดยใช้วิธีในการพัฒนา 8 วิธีได้แก่ 1) การสะท้อนคิด 2) การให้ข้อมูลและการให้ความรู้ 3) ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ 4) การอำนวยความสะดวก 5) ให้กำลังใจ 6) ทำเป็นแบบอย่าง 7) เป็นที่ปรึกษา 8) การเสริมสร้างพลังอำนาจ และได้รูปแบบการให้บริการคลินิกออทิสติก กล่าวคือ มีกิจกรรมของทีมสหสาขาวิชาชีพและกิจกรรมคู่ขนาน ผลลัพธ์ของการพัฒนารูปแบบพบว่าความพึงพอใจของผู้ใช้บริการคือ ร้อยละ 84.3 สูงกว่าก่อนการพัฒนาคือร้อยละ 78.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ความพึงพอใจของผู้ให้บริการ หลังการพัฒนามีคะแนนร้อยละ 70.67 สูงกว่าก่อนการพัฒนาที่มีคะแนนร้อยละ 53.67 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.001 การวิจัยเพื่อพัฒนาการปฏิบัติหรือแก้ปัญหาการปฏิบัติงาน โดยใช้กลยุทธ์การเสริมสร้างพลังอำนาจ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการพัฒนา การเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนได้แนวทางปฏิบัติที่ลงตัวเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพ เกิดความพึงพอใจทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ

Keywords: ออทิสติก, การพัฒนารูปแบบการให้บริการ, ความพึงพอใจ, คลินิกออทิสติก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลขอนแก่น.

Code: 2007000260

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: