ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ณัฐภาวิณี รัตนชัยฤทธิ์, ดุษฎี สุจารี, ประวัติ บุญโกมุค, บุรี ทิพนัส.

ชื่อเรื่อง/Title: ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงหรือศูนย์พึ่งได้อำเภอหนองพอก.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 273.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ จากรายงานของศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลหนองพอก ประเภทความรุนแรงด้านร่างกายปี 2546, 2547, 2548 มีผู้ถูกกระทำ 9, 3, 2 คน และด้านจิตใจ จำนวน 11, 7, 0 คน ตามลำดับมีแนวโน้มการกระทำทั้งสองด้านลดลง ส่วนการกระทำทางเพศ จำนวน 2, 4 และ 5 คน ตามลำดับ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น การกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีด้านร่างกายและจิตใจผู้กระทำส่วนมากจะเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด เช่น สามีและญาติใกล้ชิด ส่วนการกระทำด้านเพศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนมากจะเป็นคนแปลกหน้า เพื่อนชาย หรือแฟน สำหรับการให้บริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานของวิชาชีพ โดยทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องนั้น จากการประเมินของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด มีโครงสร้างคณะทำงานเครือข่ายที่ชัดเจน มีการแต่งตั้งคณะทำงาน มีการประชุมเพื่อวางแผนการทำงาน ส่วนมากจะเป็นคณะทำงานในส่วนของ โรงพยาบาลหนองพอกคณะกรรมการส่วนนอกโรงพยาบาลการทำงานยังประสานความเข้าใจยังไม่ดีเท่าที่ควร การประชุมมีอย่างไม่ต่อเนื่อง เกิดจากผู้บริหารบางส่วนยังยึดติดกับระเบียบ ข้อปฏิบัติข้อกฎหมาย ทำให้ผู้ปฏิบัติงานยุ่งยากและลำบากในการปฏิบัติงาน เพราะการดำเนินงานให้บริการในภาวะวิกฤตต้องให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ เด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ได้รับการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุม 4 มิติ รวมถึงป้องกันการกระทำซ้ำซ้อน จากปี 2546-2548 มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน มีการจัดทำคู่มือ/ระเบียบปฏิบัติ มีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ เช่น แผ่นพับ นามบัตร เสียงตามสาย การประชุมต่างๆ มีระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพพอควร ปัญหาอุปสรรคยังมีอยู่ในด้านความล่าช้า การสร้างทีมงานและเครือข่ายในการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรง มีการสร้างเครือข่ายทั้งในและนอกโรงพยาบาล มีการทำงานเชิงรุก ทั้งการให้คำแนะนำในโรงพยาบาลเอง การเยี่ยมบ้านการประชาสัมพันธ์กับองค์กรท้องถิ่น และในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดประโยชน์ คนไข้ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลหนองพอกมีแนวโน้มลดลง จากรายงานการรักษาพยาบาล การรับบริการที่ปรึกษา ของคนไข้ที่มารับบริการ รวมทั้งกิจกรรมการช่วยเหลือ จะเห็นได้ว่าการประชาสัมพันธ์ การทำความเข้าใจ การประสานงานการโฆษณา ทางสื่อต่างๆ รวมถึงการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ปัญหาจึงมีผลค่อนข้างลดลง ตามลำดับ

Keywords: ความรุนแรง, เด็กและสตรี, ภาวะวิกฤต, บริการช่วยเหลือเด็กและสตรี, กระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรี, ศูนย์พึ่งได้, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ศูนย์บริการช่วยเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงหรือศูนย์พึ่งได้อำเภอหนองพอก.

Code: 2007000261

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: