ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กนกกาญจน์ วิโรจน์อุไรเรือง, อัมพร สีลากุล, วิมาลา เจริญชัย, ทัศไนย วงษ์สุวรรณ.

ชื่อเรื่อง/Title: โรคที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์และภาวะโรคร่วมผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ในคลินิกอดสุรา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 146.

รายละเอียด / Details:

ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดปัญหามากมายทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และครอบครัว รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคร่วมต่างๆ ตามมาอีก ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพ ดังนั้นจึงศึกษาระบาดวิทยาของโรคทางจิตเวชและภาวะโรคร่วมของผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ในคลินิกอดสุราโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงบรรยาย ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross-sectional Descriptive Study) กลุ่มตัวอย่างคือผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่มารับบริการในคลินิกอดสุรา ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 จำนวน 169 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ หลักวินิจฉัยโรคตามรหัสเกณฑ์การวินิจฉัยขององค์การอนามัยโลกคือ ICD 10 (International Classification of Diseases and Related Health Problems) เก็บข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูลแฟ้มประวัติผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกอดสุราและแบบบันทึกเวชระเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากการศึกษาผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการวินิจฉัยโรคพบมากที่สุด คือ อาการทางจิตจากแอลกอฮอล์ ภาวะติดแอลกอฮอล์ และภาวะขาดแอลกอฮอล์ ร้อยละ 41.4,38.5 และ 10.1 ตามลำดับ มีภาวะโรคร่วม ร้อยละ 10.06 ภาวะโรคร่วมพบมากที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะติดบุหรี่และโรคซึมเศร้า ร้อยละ 23.53, 17.65 และ 11.76 ตามลำดับ การเกิดร่วมกับโรคจิตเวชอื่น ที่พบได้แก่ โรคจิตเฉียบพลัน โรคจิตเรื้อรัง โรคซึมเศร้าเรื้อรัง โรควิตกกังวล โรคที่เกิดจากการปรับตัวไม่เหมาะสมมีจำนวนเท่ากันคือร้อยละ 5.88 โรคทางจิตเวชจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่พบมากที่สุดคือ อาการทางจิตจากแอลกอฮอล์ สำหรับภาวะโรคร่วมที่พบ คือ ปัญหาจากโรคทางกาย การใช้สารเสพติดอย่างอื่น โรคจิตเวชอื่น ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วย แพทย์และพยาบาลควรได้ตระหนักถึงภาวะโรคร่วมอื่นที่พบในผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวช เพื่อให้การบำบัดรักษาและความช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตามควรศึกษาระบาดวิทยาการเกิดภาวะโรคร่วมของผู้ป่วยสารเสพติดอื่น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบำบัดรักษาและให้ความช่วยเหลือต่อไปและควรศึกษาการกลับไปเสพซ้ำของผู้ป่วยแอลกอฮอล์ที่มีภาวะโรคร่วม

Keywords: แอลกอฮอล์, สุขภาพจิต, ครอบครัว, โรคทางจิตเวช, คลินิกอดสุรา, ติดสุรา, ติดแอลกอฮอล์, โรคจิต, ซึมเศร้า, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี.

Code: 2007000263

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: