ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมคิด สุทธิพรม, ทิวาวรรณ ปิยกุลมาลา, นพมาศ จีราระรื่นศักดิ์.

ชื่อเรื่อง/Title: เสียงจากเด็กออทิสติก โรงพยาบาลกาฬสินธุ์.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 181.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบทบาทผู้ปกครองในการส่งเสริมช่วยเหลือเด็กออทิสติกเป็นรายบุคคล โดยการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติ ขั้นการสังเกต ขั้นการสะท้อนผล ดำเนินการประเมินพัฒนาการทุก 6 เดือน มีการเปรียบเทียบผลพัฒนาการเด็กก่อน และหลังการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน 48 – เมษายน 50 ผู้ร่วมวิจัยคือเด็กหญิงสัญชาติไทย อายุ 2 ปี 13 วัน และคุณยาย 60 ปี ผู้ดูแลที่แพทย์วินิจฉัยว่าเด็กเป็นออทิสติก เครื่องมือที่ใช้คือแบบทดสอบของโรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แบบสำรวจพัฒนาการเด็ก PDDSQ ช่วงอายุ 1-4 ปี (12 เดือน 47) แบบสังเกต และแบบประเมินไฮเปอร์แอคทิฟ (ADHD) เป็นแบบทดสอบ Conners Teacher Rating Scale แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และปฏิบัติกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ผลการศึกษา พบว่า ก่อนดำเนินการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ผู้ปกครองเด็กออทิสติก ไม่เคยมีส่วนร่วมในการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเลย เนื่องจากขาดความรู้และความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการเด็กได้อย่างเหมาะสม ผลการดูแลเด็กออทิสติกโดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม ทำให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมร้อยละ 21.54 ก่อนกระตุ้นพัฒนาการเด็กมีพัฒนาการภาพรวมร้อยละ 65.8 หลังการกระตุ้นพัฒนาการเด็กร้อยละ 87.34 จากที่เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ไม่มองหน้า ไม่สบตา พูดได้เป็นคำๆ ชอบเล่นคนเดียว ไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น หลังการปรับพฤติกรรมเป็นเวลา 1 ปี เด็กมีสมาธิในการทำกิจกรรม มองหน้า สบตา พูดได้ 2 คำ มองหน้าสบตาและรู้จักเล่นกับเด็กคนอื่น ต่อมาเริ่มวางแผนแก้ไขการพูดเป็นเวลา 6 เดือน โดยนำเด็กมาฝึกสัปดาห์ละ 4 วัน เด็กสามารถพูดเป็นประโยคได้ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ผู้ปกครองมีความรู้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันเด็กสามารถสื่อสารกับผู้ปกครอง พยาบาล คนรอบข้างได้ และสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ และมีการวางแผนการเรียนการสอนร่วมกันระหว่าง ครูประจำชั้น ครูศูนย์ การศึกษาพิเศษ พยาบาล และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กสามารถมีความพร้อมทั้งด้านการช่วยเหลือตนเอง ด้านการเรียน และการอยู่ร่วมกับเพื่อนในสังคมอย่างมีความสุขตามศักยภาพต่อไป

Keywords: ออทิสติก, พัฒนาการเด็ก, พฤติกรรม, กระตุ้นพัฒนาการเด็ก, เด็กออทิสติก, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลกาฬสินธุ์.

Code: 2007000266

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: