ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เพชรา คงศรี.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาพฤติกรรมผลกระทบปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มสุราในเด็กอายุ 10-13 ปี ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 218.

รายละเอียด / Details:

ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เป็นตำบลที่พบว่ามีเด็กอายุ 10-13 ปี เกิดอุบัติเหตุและทะเลาะวิวาทกัน เนื่องจากเมาเหล้าในปี 2547 และ 2548 มีจำนวน 76 และ 102 คน เกิดความรุนแรงเสียชีวิตปีละ 2-4 คน จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรม ผลกระทบปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มสุราในเด็กอายุ 10-13 ปี และแนวทางการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรม ผลกระทบ ปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มสุราในเด็กอายุ 10-13 ปี และแนวทางการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤศจิกายน 2549 การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview) การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) และการสังเกต (Observation) กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียน ม.1 ที่ดื่มและไม่ดื่มทั้งเพศชายและเพศหญิง อาจารย์ ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและผู้สูงอายุจำนวน 60 คน ในประเด็นพฤติกรรม ผลกระทบ ปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มและแนวทางการลดการดื่มสุรา จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Excel วิเคราะห์ข้อมูลเนื้อหาเชิงลึก (Content Analysis) และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation) ผลการวิจัยพบว่าเด็กนักเรียนมีพฤติกรรมการดื่มสุราตั้งแต่ประถมศึกษา ดื่มกันเป็นประจำทุกวัน หรือดื่มตามโอกาส ทำให้เกิดผลกระทบต่อด้านการเรียนโดยเรียนไม่รู้เรื่องด้านร่างกายทำให้เกิดการทะเลาะและเกิดอุบัติเหตุ ด้านจิตใจพบว่าทำให้ครอบครัวเกิดความขัดแย้งกัน ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมขาดความเข็มแข็งพึ่งหาอาศัยไม่ได้ สร้างค่านิยมที่ไม่ดี ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการดื่มมีตั้งแต่ตัวเด็กที่อยากลอง เพื่อความสนุก ผู้ปกครองดื่มเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี สื่อโฆษณาก็มีส่วนในการดื่มและค่านิยมและวัฒนธรรมของชุมชนในวิถีของชุมชนงานบุญ งานประเพณีและกิจกรรมชุมชนยังมีการเลี้ยงสุรา และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง สุรากลายเป็นตัวเชื่อมกิจกรรมทางสังคมทุกประเภท รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษของสุรา ส่วนแนวทางการลดการดื่มสุราพบว่าทุกฝ่ายต้องรู้บทบาทหน้าที่และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จากการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงแนวทางการลดการดื่มสุราในเด็ก 10-13 ปี โดยทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและทุกคนต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เหมาะสม

Keywords: สุรา, ความรุนแรง, การศึกษาพฤติกรรม, พฤติกรรมการดื่มสุรา, เด็ก, เหล้า, นักเรียน, สารเสพติด, ยาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลบ้านตาก.

Code: 2007000268

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: