ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กุลธิดา พานิชกุล, สุนีย์รัตน์ บุญศิลป์.

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายในพนักงานโรงงานปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ตามโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 224.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายของพนักงานปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด ตามกรอบแนวคิดของโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Trans Theoretical Model TTM) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงบรรยาย กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานที่คัดเลือกแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) จำนวน 343 คน แบบสอบถามประกอบด้วย 1) ข้อมูลส่วนบุคคล และพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย 2) ขั้นความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3) กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 4) การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และ 5) ความ…สมดุลในการตัดสินใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 39.90 ปี สถานภาพสมรสคู่ การศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลายมีรายได้มากกว่า 15,000 บาท โรคประจำตัวที่พบมากที่สุด ได้แก่ ข้อเข่าเสื่อม และความดันโลหิตสูง เวลาที่ทำการเคลื่อนไหวออกกำลังกายโดยเฉลี่ย 117.46 นาที/สัปดาห์ จำแนกขั้นความพร้อมในการเปลี่ยนพฤติกรรมพบว่า กลุ่มตัวอย่างอยู่ในขั้นก่อนพิจารณาน้อยที่สุด (ร้อยละ 7.6) และขั้นคงไว้ซึ่งการปฏิบัติมากที่สุด (ร้อยละ 25.7) เพศ อายุ สถานภาพสมรส และความสมดุลในการตัดสินใจด้านผลเสียของการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ไม่มีความสัมพันธ์กับขั้นความพร้อมในการปรับเปปลี่ยนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทางตรงกันข้าม เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนไหวออกกำลังกายใน 1 สัปดาห์ (r=0.12) กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายในส่วนกระบวนการใช้ความรู้สึกนึกคิดหรือประสบการณ์ (r=0.39*) กระบวนการทางพฤติกรรม (r=0.38*) การรับรู้สมรรถนะแห่งตน (r=23*) และความสมดุลในการตัดสินใจด้านผลดี (r=0.32*) มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับขั้นความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายของพนักงานได้แก่ กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความสมดุลในการตัดสินใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านผลดี โดยสามารถระบุขั้นความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถูกต้องร้อยละ 39.5 ผลการศึกษาครั้งนี้อาจมีส่วนช่วยสนับสนุนแนวคิดการนำโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาประยุกต์ใช้ในการจัดโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกกำลังกายในพนักงานโรงงานต่อไป

Keywords: การออกกำลังกาย, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, พนักงาน, trans theoretical model, TTM

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี.

Code: 2007000269

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: