ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร ทองบ่อ, นิมิต แก้วอาจ, สรานุช จันทร์วันเพ็ญ.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัดจังหวัดขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธาณสุขประจำปี 2550, ณ.โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 29-31 สิงหาคม 2550, หน้า 227.

รายละเอียด / Details:

การที่จะช่วยให้ผู้ติดสารเสพติดสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้โดยไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ จำเป็นต้องได้เรียนรู้ถึงวิธีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม การเข้าใจตนเอง ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง มองชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีทักษะในการแก้ไขปัญหาและป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากสารเสพติด ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ดังกล่าว นอกจากการเรียนรู้จากสถานบำบัดต่างๆแล้ว การมีโอกาสได้เรียนรู้และรับประสบการณ์ตรวจจากชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วม ในการบำเพ็ญประโยชน์ ดูแลความสงบในชุมชน ป้องกันปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสารเสพติด น่าจะช่วยให้ผู้ติดสารเสพติดมีความเข้าใจตนเอง ครอบครัวและสังคม มองเห็นคุณค่าในชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่กลับไปใช้สารเสพติด และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสม การศึกษาผลและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัด จังหวัดขอนแก่น กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้เคยใช้สารเสพติดจำนวน 12 คน ที่สมัครเข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 รวมระยะเวลา 4 เดือน การดำเนินโครงการประกอบด้วย 2 กระบวนการ คือ 1) กระบวนการเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน 2) กระบวนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยการพักอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ 1 คนต่อ 1 ครอบครัว ติดตามผลวันสิ้นสุดโครงการและในระยะต่อเนื่องในเดือนที่ 1, 3, 6 และ 12 หลังจบโครงการ ผลการศึกษา มีผู้เข้าร่วมโครงการครบกำหนดจำนวน 11 คน ไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำและมีการเปลี่ยนแปลงในด้านบุคลิกลักษณะ สุขอนามัยส่วนบุคคล การสื่อสารและการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น ระเบียบวินัย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การใช้เวลาประจำวัน ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเอง ปัญหาอุปสรรคในกาดำเนินงานที่พบ คือการหา ex-addict หรือพี่เลี้ยงเพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ดูแล เป็นที่ปรึกษาแก่กลุ่มเป้าหมาย และครอบครัวเดิมมีส่วนร่วมน้อย โครงการชุมชนเข้มแข็งบำบัด เป็นการนำกระบวนการชุมชนเข้มแข็งมาใช้ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ติดสารเสพติด โดยผ่านกลไกของครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต คือ ครอบครัวมีบทบาทที่เหมาะสม มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด และมีวิถีชุมชนที่อยู่อย่างพอเพียง ช่วยให้ผู้ติดได้เรียนรู้และซึมซับสิ่งต่างๆ เกิดการปรับเปลี่ยนตัวเอง และไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของครอบครัวในการเป็นเกราะป้องกันไม่ให้บุตรหลานเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะช่วยกันรณรงค์ให้ครอบครัวเกิดตระหนัก และเห็นความสำคัญในการทำหน้าที่หรือบทบาทของครอบครัวที่เหมาะสม

Keywords: สารเสพติด, ชุมชนเข้มแข็ง, การบำบัด, การดำเนินชีวิต, ครอบครัว, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์.

Code: 2007000270

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550

Download: