ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาเครื่องมือคัดกรองภาวะซึมเศร้า ชื่อ Khon Kaen University Depression Inventory (KKU-DI) สำหรับคนไทยในชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ .

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 51, ฉบับที่ 4, เมษายน-มิถุนายน 2549, หน้า 330-348.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่เที่ยงและเชื่อถือได้เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้าในคนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตั้งชื่อแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้านี้ว่า KKU-DI วิธีการศึกษา ข้อคำถามในแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า KKU-DI ได้รวบรวมมาจากหลายแหล่งได้แก่ การประชุมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในคณะของจิตแพทย์จำนวน 5 คนเกี่ยวกับอาการสำคัญของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าร่วมกับการทำกลุ่มอภิปรายเกี่ยวกับประสบการณ์ของชาวบ้านที่มีอาการซึมเศร้า ความเข้าใจและการแสดงออกเมื่อมีภาวะซึมเศร้า ได้แบบคัดกรองชุดแรกมีคำถาม 80 ข้อและกำหนดมาตรวัดเป็น 4 ระดับตามความรุนแรงและความถี่ของอาการต่างๆ จากนั้นส่งให้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นจิตแพทย์จากสถาบันอื่นๆ 10 ท่านและนักจิตวิทยา 3 ท่านช่วยพิจารณาความตรงด้านเนื้อหา ผลการพิจารณาทำให้ลดข้อคำถามลงไป 35 ข้อ จึงนำไปวิเคราะห์สถิติรายข้อโดยใช้กับกลุ่มตัวอย่าง 270 คนแบ่งเป็นกลุ่มคนปกติ 135 คนและกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชอีก 135 คน นำผลการวิเคราะห์รายข้อมาปรับปรุงเป็นแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าชุดที่ 2 มีข้อคำถาม 30 ข้อตั้งชื่อว่าเป็น KKU-DI ให้คำตอบเป็นมาตรวัด 4 ระดับตั้งแต่ 0-3 มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0-90 จากนั้นนำแบบคัดกรองนี้ไปใช้ในชุมชน 8 หมู่บ้านในเขตอำเภอเมือง จ.ขอนแก่นโดยใช้ผู้ช่วยนักวิจัยที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือและการสัมภาษณ์มาก่อนลงพื้นที่สัมภาษณ์รายบุคคล จากนั้นผู้ที่ได้ค่าคะแนนแบบคัดกรองเป็น 0 จะสุ่มเลือกมาร้อยละ 10 ส่วนผู้ที่ได้ค่าคะแนนระหว่าง 1-20 สุมเลือกมาร้อยละ 20 ผู้ที่ได้ค่าคะแนนมากกว่า 20 ทุกคนส่งมาพบจิตแพทย์จำนวน 1 คน จากจำนวน 3 คนที่ผ่านการตรวจสอบวัดค่าความสอดคล้องตรงกันสำหรับการวินิจฉัยโรค (Kappa>0.80) เพื่อสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างเพื่อการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าชนิด Composite International Diagnostic Interview (CIDI) schedule ซึ่งกำหนดให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานทองคำเปรียบเทียบกับผลที่ได้จากแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า KKU-DI แล้ววิเคราะห์ทางสถิติหาค่าความไว ความจำเพาะและจุดตัดที่เหมาะสม ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มี 951 คน ลักษณะประชากรศาสตร์มีความหลากหลายในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาเครื่องมือ อาสาสมัครที่เข้าร่วมประชุมกลุ่มอภิปรายมีทั้งหมด 24 คนเป็นชาย 11 และหญิง 13 คน ค่ามัธยฐานของอายุคือ 28 ปี อาสาสมัครในขั้นตอนทดสอบความเที่ยงของเครื่องมือมีจำนวน 270 คน เป็นชาย 95 คน หญิง 175 คน ค่ามัธยฐานของอายุคือ 35 ปี อาสาสมัครในชุมชน 8 หมู่บ้านที่ไปสำรวจและทดลองใช้เครื่องมือนี้มีทั้งหมด 677 คนเป็นชาย 292 และหญิง 385 คน ค่ามัธยฐานของอายุคือ 39 ปี จะเห็นว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงมากกว่าส่วนมากเป็นวัยกลางคน สมรสแล้ว (ร้อยละ 83-84) เศรษฐานะต่ำ ระดับการศึกษาน้อย มีอาชีพเกษตรกรรม จากการวิเคราะห์ค่าความสอดคล้องภายในของข้อคำถามทั้ง 30 ข้อ ได้ค่า Cronbach alpha coefficient= 0.95 ค่าความสอดคล้องระหว่างผู้ช่วยนักวิจัยทั้ง 7 ในการใช้แบบคัดกรองได้ค่า Fleiss generalized kappa 0.80 (95%c1=0.75-0.86p‹0.001) ค่าความสอดคล้องระหว่างจิตแพทย์ 3 คน ในการใช้ CIDI วินิจฉัยโรคซึมเศร้า มีความสอดคล้องกันมากด้วยค่า Fleiss generalized kappa 0.85 (95%c1 = 0.74-0.98 p<0.001) ค่าความไวและความจำเพาะของแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า KKU-DI คิดเป็นร้อยละ 88 (95%c1=86.90%) เท่ากัน ค่าคะแนนที่เป็นจุดตัดคือ 20 อัตราความชุกโรคซึมเศร้าในชุมชนพบร้อยละ 3.9 ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 8.4 เท่า สรุป แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า KKU-DI มีความเที่ยงตรงสำหรับคัดกรองโรคซึมเศร้าในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่าความไวและความจำเพาะร้อยละ 88 มีค่าจุดตัดอยู่ที่ 20 คะแนนขึ้นไป

Keywords: ซึมเศร้า, โรคจิตเวช, โรคซึมเศร้า, แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า KKU-DI, ความเที่ยง ความไว ความจำพาะ, แบบคัดกรอง, จิตแพทย์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 200700028

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: