ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริชัย ดาริกานนท์, สมจิตร พิมพ์พนิตย์, ปัทมา ยิ่งยมสาร, ประทวน เข้มเงิน

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในจังหวัดชัยนาท

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ จังหวัดชัยนาทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ โดยใช้แบบสอบถามจำนวน 56 ข้อ ประกอบด้วยคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านจิตสังคม และแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าสำหรับผู้สูงอายุ Thai Geriatric Depression Scale (TGDS) จำนวน 30 ข้อ ทำการสอบถามผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดชัยนาทที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิงไม่จำกัดระดับการศึกษา อาชีพ ศาสนา รายได้ และสถานภาพสมรส จำนวน 1,038 คน ผลการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 38.0 เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 62.0 ส่วนใหญ่มาจากอำเภอสรรพยา คิดเป็นร้อยละ 21.7 รองลงมา คือ อำเภอสรรคบุรี คิดเป็นร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 60-75 ปี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 75.7 สถานภาพสมรสคู่ พบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 56.7 รองลงมาสถานภาพสมรสหม้าย คิดเป็นร้อยละ 37.1 ระดับการศึกษาจบชั้นประถมศึกษามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.9 รองลงมาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 35.4 ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 67.1 มีรายได้ตั้งแต่ 1-3,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.9 รองลงมาไม่มีรายได้ คิดเป็นร้อยละ 42.2 พบมีความชุกของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 43.1 โดยมีภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 55.5 ระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 32.7 ระดับรุนแรง คิดเป็นร้อยละ 11.8 ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าทั้งหมด ผลการวิเคราะห์ค่าความสัมพันธ์ของลักษณะทางประชากร และปัจจัยทางด้านจิตสังคมของผู้สูงอายุกับภาวะซึมเศร้า พบว่า 1. ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดชัยนาท มีภาวะซึมเศร้าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยผู้สูงอายุในเขตอำเภอสรรพยา มีภาวะซึมเศร้ามากที่สุด 2. เพศชาย มีภาวะซึมเศร้าแตกต่างจากเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยเพศหญิงมีภาวะซึมเศร้ารุนแรงมากกว่าเพศชาย 3. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 75 ปี ขึ้นไป มีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่อายุระหว่าง 60-75 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4. ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว พบว่า ผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ กัน มีภาวะซึมเศร้าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดย ผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวในลักษณะที่มีการทะเลาะวิวาท มีปากเสียงกันประจำ มีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีสมาชิกในครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง และสมาชิกในครอบครัวรักใคร่ปรองดองกันดี 5. ผู้สูงอายุที่มีอุปนิสัยเกี่ยวกับการนอนที่ต่างกัน มีภาวะซึมเศร้าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดย ผู้สูงอายุที่ง่วงนอนทั้งกลางวันและกลางคืนเข้านอนแล้วหลับยาก เข้านอนแล้วหลับไม่ยากแต่จะตื่นราว ๆ ตี 2-3 แล้วไม่หลับมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีลักษณะการนอนปกติ 6. ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือ อาการที่เป็นปัญหากับผู้สูงอายุที่แข็งแรงดี มีภาวะซึมเศร้าต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดย ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหรืออาการที่เป็นปัญหามีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่แข็งแรงดี 7. ผู้สูงอายุที่ไม่ปรึกษาใคร เก็บไว้คนเดียวเมื่อมีปัญหา มีภาวะซึมเศร้ามากกว่า ผู้สูงอายุที่ปรึกษากับญาติพี่น้องหรือคนอื่น ไปหาพระที่วัด พยายามลืม ปล่อยให้มันผ่านไปเอง ไปหาหมอดูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 8. ผู้สูงอายุที่เคยคิดจะฆ่าตัวตาย เมื่อกลุ้มใจหรือไม่สบายใจมากๆ มีภาวะซึมเศร้าแตกต่างจากผู้สูงอายุที่ไม่เคยคิดจะฆ่าตัวตาย เมื่อกลุ้มใจหรือไม่สบายมาก ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดย ผู้สูงอายุที่เคยคิดจะฆ่าตัวตายมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เคยคิดจะฆ่าตัวตาย

Keywords: ความชุกของภาวะซึมเศร้า, ความชุก, ซึมเศร้า, ผู้สูงอายุ, ระบาดวิทยา, psychiatry, prevalence, epidemiology, depress, depression, elderly

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: ศูนย์สุขภาพจิตชัยนาท กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002010

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -