ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ละเอียด ปัญโญใหญ่, วัชนี หัตถพนม, ทิพากร ปัญโญใหญ่, เครือวัลย์ ชาญนุวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในการยอมรับตนเองและพฤติกรรมเผชิญความเครียดของผู้สูงอายุในชมรมข้าราชการเกษียณอายุ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา(Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในการยอมรับตนเองและพฤติกรรมเผชิญความเครียดของผู้สูงอายุ ในชมรมข้าราชการเกษียณอายุ จังหวัดขอนแก่น ปัจจัยที่ทำการศึกษาได้แก่ อายุ เพศ สถานภาพสมรส รายได้ ความเพียงพอของรายได้ ระดับการศึกษา ลักษณะการอยู่อาศัยในครอบครัว โรคประจำตัวอัตราการเข้าร่วมในสังคม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ในชมรมข้าราชการเกษียนอายุ จังหวัดขอนแก่น ที่มารับบริการตรวจสุขภาพในคลินิคผู้สูงอายุโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ระหว่าง เดือนมกราคม 2538 – มีนาคม 2539 จำนวน 187 คน โดยคำนวณกลุ่มตัวอย่างจากจำนวนประชากร 350 คน (จำนวนผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกในชมรมข้าราชการการเกษียนอายุทั้งหมด) โดยใช้สูตรของทาโรยามาเน (yamane) และสุ่มตัวอย่างโดยวิธีสุ่มตัวอย่างมีระบบ(Systematic Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปของผู้สูงอายุ แบบวัดการยอมรับตนเอง แบบวัดพฤติกรรมเผชิญความเครียด และได้ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน และหาค่าความเที่ยงของเครื่องมือโดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า ได้ค่าความเที่ยงของแบบสัมภาษณ์การยอมรับตนเองและแบบวัดสัมภาษณ์พฤติกรรมเผชิญความเครียดของผู้สูงอายุเท่ากับ 0.786 และ 0.869 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS/PC+ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไคสแควร์ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการยอมรับตนเอง และพฤติกรรมเผชิญความเครียดโดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน(Pearson Product Moment Correlation Coefficient) ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในการยอมรับตนเอง และพฤติกรรมเผชิญความเครียดได้แก่ รายได้ ความเพียงพอของรายได้ การศึกษา โรคประจำตัว อัตราการเข้าร่วมในสังคม การยอมรับตนเอง มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเผชิญความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนเพศ อายุ สถานภาพสมรส ลักษณะการอยู่อาศัยในครอบครัว ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเผชิญความเครียดในผู้สูงอายุ และจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการยอมรับตนเอง และพฤติกรรมเผชิญความเครียดของผู้สูงอายุพบว่า มีความสัมพันธ์ปานกลาง

Keywords: พฤติกรรมเผชิญความเครียด, ผู้สูงอายุ, เกษียณ, ความเครียด, พฤติกรรม, การยอมรับตนเอง, สุขภาพจิต, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002131

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -