ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประณีต วรวสุวัส

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการรณรงค์แปรงฟันเวลาหลังอาหารเย็นและเวลาตื่นนอนเช้า

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์แปรงฟันเวลาหลังอาหารเย็น และตื่นนอนตอนเช้า แก่ผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi – experimental study) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยเป็นผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 263 คน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ระหว่างเดือน มกราคม – กันยายน 2540 และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยจำนวน 23 คน เลือกตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาแบบเจาะจง (purposive sampling) ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แผนการสอนเรื่องความรู้ในการดูแลอนามัยช่องปากแผนการและการสาธิตวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้อง การฝึกปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟันหลังการสอนแผนการจัดกิจกรรมและดูแลให้ผู้ป่วยปฏิบัติกิจกรรมการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ ในเวลาหลังอาหารเย็นและเวลาตื่นนอนตอนเช้า เป็นระยะเวลา 8 เดือน ตลอดโครงการแบบสัมภาษณ์ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่และแบบบันทึกรายงานที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้ 1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย การปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟัน ความพึงพอใจต่อการให้ผู้ป่วยปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟัน และความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อโครงการรณรงค์แปรงฟันเวลาหลังอาหารเย็นและตื่นนอนตอนเช้า ใช้วิธีแจกแจงความถี่และหาค่าร้อยละ 2. ความรู้ของผู้ป่วย ใช้วิธีหาค่ามัชฌิมเลขคณิต ความเบี่ยงมาตรฐาน 3. ใช้สถิติ T-test เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนก่อนและหลังให้ความรู้ ผลที่ได้ พบว่า 1. ผู้ป่วยจิตเวช ที่ได้รับการสอนการดูแลอนามัยช่องปากมีความรู้เรื่อง “ข้อปฏิบัติในการดูแลป้องกันโรคฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ” มากกว่าก่อนสอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P‹0.001 2. จำนวนผู้ป่วยจิตเวช ที่ปฏิบัติกิจกรรมแปรงฟัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนดำเนินงาน ร้อยละ 35.08 3. ผู้ป่วยจิตเวชที่แปรงฟันได้ถูกวิธีหลังสอนมีจำนวนร้อยละ 24.33 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 14.06 4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยจิตเวช ต่อการจัดให้มีการแปรงฟัน พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่พึงพอใจต่อการดูแลให้มีการแปรงฟัน คิดเป็นร้อยละ 86.69 และโดยเหตุผลส่วนใหญ่คือ เพราะทำให้รู้สึกปากสะอาด 5. ผลการศึกษาความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ต่อโครงการพบว่า 5.1. ข้อดีหรือจุดเด่นของโครงการ ส่วนมากตอบว่าทำให้สุขภาพช่องปากผู้ป่วยดีขึ้น ร้อยละ 78.26 รองลงมาคือทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 39.13 และทำให้กลิ่นปากลดลงหรือไม่มี ทำให้น่าคุยและน่าสร้างสัมพันธภาพด้วยร้อยละ 34.78 ตามลำดับ 5.2. ข้อเสียของโครงการ ส่วนมากตอบว่าไม่มีข้อเสียร้อยละ 4.347 รองลงมาคือขนแปรงแข็งเกินไปร้อยละ 21.74 และคนไข้บางคนไม่รู้เรื่อง ทำให้ยากต่อการนำผู้ป่วยปฏิบัติ กิจกรรมแปรงฟันร้อยละ 13.04 ตามลำดับ 5.3. ข้อเสนอแนะและข้อควรปรับปรุง ส่วนมากตอบว่าโครงการนี้เหมาะสมแล้วควรทำต่อเนื่องตลอดไปและยาสีฟันควรเบิกเพิ่มได้ถ้าไม่พอร้อยละ 39.13 รองลงมาคือแปรงสีฟันควรให้มีคุณภาพมากกว่านี้ร้อยละ 34.78 สรุปและข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาทั้งหมดพบว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีความรู้มีอนามัยช่องปากและการแปรงฟันที่ถูกวิธีเพิ่มขึ้นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยมีความคิดเห็นส่วนมากพอใจต่อโครงการและรู้สึกว่าผู้ป่วยมีอนามัยช่องปากดีขึ้น มีกลิ่นปากลดลง ทำให้น่าคุยน่าสร้าง สัมพันธภาพด้วย ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลดี

Keywords: ทันตกรรม, โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น, ผู้ป่วยจิตเวช, dental

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005220

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -