ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิดารัตน์ พิมพ์ดีด,ทัศนีย์ ศิริมุกดากุล,จิตรประสงค์ สิงห์นาง,ปรารถนา คำมีสีนนท์,มัลลิฑา พูลสวัสดิ์,นวพร ตรีโอษฐ์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนารูปแบบจำหน่ายผู้ป่วยโรคจิตเภทที่กลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น : สถานการณ์การจำหน่ายผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหญิงแห่งหนึ่ง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 , พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ / วิธีการ การวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนารูปแบบการจำหน่ายในผู้ป่วยโรคจิตเภท ที่กลับมารักษาซ้ำ วิธีการศึกษาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1) การวิเคราะห์สถานการณ์ 2) การปฏิบัติ และ 3) การประเมินผล ทำการศึกษาภาคสนามในขั้นที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนกรกฎาคม 2542 โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 6 คน พยาบาลเทคนิคจำนวน 3 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ จำนวน 3 คน ญาติใกล้ชิดที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยจำนวน 11 คน และผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งที่ 2 ขึ้นไปจำนวน 8 คน ผู้ป่วยและญาติเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตอย่างไม่มีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม และการศึกษาเอกสารเพิ่มเติม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลที่ได้ ผลการวิจัยในขั้นตอนที่ 1 พบว่า กระบวนการจำหน่ายที่เป็นอยู่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ไม่สนองต่อความต้องการของผู้ป่วยเฉพาะบุคคล แต่จะทำเป็นงานประจำโดยเน้นพิธีกรรมด้านธุรการมากกว่าการเตรียมญาติและผู้ป่วยเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเจ้าหน้าที่ทุกคนเห็นความจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการจำหน่ายใหม่ จึงได้ร่วมกันสร้างรูปแบบการจำหน่ายขึ้นมาใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากความเห็นของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ความเห็นและความต้องการของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รูปแบบใหม่จัดการให้มีพยาบาลเจ้าของไข้ เมื่อผู้ป่วยอาการทางจิตดีขึ้น จะจัดให้ผู้ป่วยร่วมปรึกษาวางแผนการใช้ชีวิตที่บ้านและการดูแลตนเองกับพยาบาลรวมทั้งการจัดกิจกรรมการพยาบาลให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้ป่วยด้วย ขณะเดียวกันพยาบาลร่วมปรึกษาวางแผนตามความต้องการของญาติเพื่อดูแลผู้ป่วย การดำเนินการในรูปแบบนี้จะนำไปทดลองใช้ในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป สรุปและข้อเสนอแนะ รูปแบบการจำหน่ายที่สร้างขึ้นโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ร่วมวิจัยทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ให้ได้รูปแบบที่ปฏิบัติได้จริง จึงเป็นวิธีการที่ดีที่ควรสนับสนุนให้ใช้วิธีการนี้อย่างแพร่หลาย ตามพื้นฐานสถานการณ์ในหอผู้ป่วย

Keywords: จิตเภท, โรคจิตเภท, schizophrenia, readmit, readmission, discharge, psychiatric nursing

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201420005221

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -